กระทรวงอว.เผยโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศพร้อมรับมือไวรัสโคโรนา  มอบหมาย วช.ให้ทุนทำวิจัยเร่งด่วน พร้อมต่อยอดงานวิจัยผ้ากันไรฝุ่น ปรับใช้เป็นหน้ากากอนามัยแบบซักได้ แก้ปัญหาการขาดแคลน

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ถนนศรีอยุธยา ดร.สุวิทย์  เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา  ฯ  เรียกประชุมคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์จากทั่วประเทศ กว่า 20 หน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อซักซ้อมเตรียมการและสร้างความมั่นใจในความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วย ตลอดจนเครื่องมือ อุปกรณ์ ยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลภายในสังกัดกระทรวงอว.สามารถให้บริการ ดูแลประชาชน ตรวจวินิจฉัยและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ  ทั้งนี้ได้มีการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพร้อมปฏิบัติตามทุกมาตรการที่เกิดขึ้น   รวมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางการดูแลนักศึกษาไทยในประเทศจีน และนักศึกษาจีนที่มาศึกษาต่อในประเทศไทย
ดร.สุวิทย์    กล่าวว่า จากการหารือและตรวจสอบความพร้อมของโรงพยาบาลอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีอยู่ 23 แห่ง   จำนวนกว่า 14,475 เตียง และมีแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์ มากกว่า 23,758 คน   พบว่ามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์ทางการแพทย์  ที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที   และกระทรวงจะทำการวิจัยเชิงรุกเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนงานวิจัยเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา
ด้าน ศ.นพ. สิริฤกษ์   ทรงศิวิไล   ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กล่าวว่า  การรับมือเรื่องไวรัสโคนา ในส่วนขององค์ความรู้ด้านการวิจัย กระทรวงอว. โดยวช.ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเร่งด่วน ทั้งด้านการศึกษาตัวเชื้อไวรัสและลักษณะของพันธุกรรม  มีการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาโอกาสและแนวโน้มในการระบาดของโรค   มีการพัฒนาชุดตรวจและวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วและแม่นยำ  
รวมถึงเร่งการพัฒนายาและวัคซีน  นอกจากนี้จะมีสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเครือข่ายนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการเพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆอีกด้วย
อย่างไรก็ดีในที่ประชุมดังกล่าว  ส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลในสังกัด ได้มีข้อกังวลในเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในกรณีหากมีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก  จึงขอให้กระทรวงอว.สนับสนุน อุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว  รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันโรคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมาก
 สำหรับการวิจัยที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันโรคดังกล่าวรวมถึงฝุ่นพีเอ็ม 2.5   นั้น ศ.นพ. สิริฤกษ์   เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงอว.โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)หรือทีเซลส์  ได้ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชและภาคเอกชน   จะต่อยอดผลงานวิจัยผ้ากันไรฝุ่น ที่พัฒนาแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการทดสอบใช้งาน มาปรับใช้ด้วยการออกแบบเป็นหน้ากากอนามัย  ที่มีคุณภาพพิเศษสามารถกันฝุ่นได้ตั้งแต่ 0.1 -0.3 ไมครอน   สามารถซักและเปลี่ยนไส้กรองได้ ทำให้ใช้งานได้หลายครั้ง ประหยัดมากกว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง  คาดว่าจะสามารถผลิตเพื่อนำมาใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้

ที่มา : Dailynews online 3 กุมภาพันธ์ 2563 [https://www.dailynews.co.th/it/755587]