คำตอบ

แนวทางการใช้ประโยชน์จากกลีเซอรอลดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าของกลีเซอรอล และช่วยลดต้นทุนในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการทำกลีเซอรอบให้บริสุทธิ์ และการนำกลีเซอรอลดิบไปแปลงเป็นวัตถุดิบอื่นที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าของกลีเซอรอลดิบ โดยปกติกลีเซอรอลบริสุทธิ์ (99.5%) จะถูกใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง เนื่องจากกลีเซอรอลมีจุดเดือดสูงถึง 290 องศาเซลเซียส การแยกกลีเซอรอลเพื่อให้ได้ความบริสุทธิ์ตามต้องการโดยการกลั่นที่อุณหภูมิสูงจะทำให้กลีเซอรอลเกิดการสลายตัวไปเป็นสารชนิดอื่น 
ปัจจุบันได้มีการศึกษาการนำกลีเซอรอลดิบไปแปรรูปเป็นสารอื่นที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น นำไปใช้ในกระบวนการผลิตสาร 1,3-Propanediol  ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยผ่านวิธีการหมักโดยใช้แบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีการนำกลีเซอรอลดิบไปใช้ในกระบวนการผลิตสาร Docosahexenoic acid (DHA หรือ Omega-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ช่วยต่อต้านโรคมะเร็ง การนำกลีเซอรอลไปใช้เป็นเชื้อเพลิงก็เป็นวิธีการหนึ่งที่นำกลีเซอรอลไปใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามกลีเซอรอลที่นำไปเผาไหม้ที่ความร้อนโดยตรงนั้นจะสลายตัวได้สารพิษขึ้นมาชนิดหนึ่ง ได้แก่ อะโครลีน (Arolein) ซึ่งมีพิษอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการเผาไหม้ให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้สารพิษกระจายสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาพบว่า กลีเซอรอลเป็นสารตั้งต้นที่มีประสิทธิภาพชนิดหนึ่งในการนำไปใช้ในการผลิตก๊าซไฮโดรเจน

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สุธิดา อรรถยานันทน์ และ อมรชัย อาภรณ์วิชานพ.  “ทำความรู้จักกับ “กลีเซอรอล” ว่าที่แหล่งพลังงานทดแทนในอนาคต”.  Technology Promotion.  ปีที่ 39, ฉบับที่ 226, (ธันวาคม 2012-มกราคม 2013)  หน้า 50-52.