คำตอบ

มีตัวอย่างงานวิจัยจากต่างประเทศ เรื่อง การดูดซับคราบน้ำมันจากแกนปอ เช่น งานวิจัยของสหรัฐพบว่า แกนปอแตกหักได้ง่ายเต็มไปด้วยรูและท่อ มีโครงสร้างซับซ้อน จึงดูดซับน้ำมันและสารเคมีได้หลายชนิด แกนปอป่นดูดซับน้ำมันได้ดีกว่าวัสดุอื่น และดีพอๆ กับเส้นใยพลาสติกโพลีโพพิลีน โดยในการดูดซ้บน้ำมัน 1 บาร์เลร (159 ลิตร) ใช้ปอ 11 กิโลกรัม แต่ใช้พีทมอส 30 กิโลกรัม 
งานวิจัยญี่ปุ่นโดย ดร. Sameshima และคณะพบว่า ที่อุณหภูมิ 350 องศาเซลเซียสแกนปอจะดูดน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 162-173% เมื่อเทียบกับแกนปอปกติ แกนปอจะดูดน้ำมันเพิ่มขึ้นที่อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 300 องศาเซลเซียส แกนปอจะหดตัว ปริมาณและความหนาแน่นลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าแกนปอดูดซับน้ำมันได้มากกว่าปอสาญี่ปุ่น 1 เท่า แกนปอไม่มีสารพิษ เมื่อดูดซับน้ำมันแล้วยังลอยอยู่เหนือผิวน้ำจึงกู้คืนง่าย
งานวิจัยมหาวิทยาลัยรัฐมิสซิสซิปปี้พบว่า แกนปอที่ดูดซับน้ำมันแล้วจะปลดปล่อยสารพิษจากน้ำมันกลับสู่สิ่งแวดล้อมน้อย โดยแกนปอที่ดูดซับน้ำมัน (total petroleum hydrocarbon) ไว้ 750,000 ส่วนในล้านส่วนมีการชะล้างไปเพียง 160 ส่วนในล้านส่วนเท่านั้น ปอไม่มีสารพิษจึงไม่มีผลกระทบต่อพืช สัตว์บกและสัตว์น้ำ แกนปอมีความเป็นกรดด่าง (pH) 6.8  และมีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่า 1 ปอจะย่อยสลายหมดใน 24 เดือน โดยจะย่อยสลายเร็วภายใน 9 เดือน เมื่ออยู่ในดิน มีความชื้น / ฝนหรือปนเปื้อน นอกจากนี้ก็ขึ้นกับความเป็นกรดด่างและสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

แฉล้ม มาศวรรษ อนุสรณ์ เวชสิทธิ์ และ เพียงเพ็ญ ครวัต.  “ปอ...วัสดุดูดซับคราบน้ำมัน”.  น.ส.พ. กสิกร.  ปีที่ 86, ฉบับที่ 5, (กันยายน-ตุลาคม) 2556. หน้า51-52