เผยความสำเร็จงานมหกรรมไอที กว่า 18 ปี สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างชาติ ชูความสำเร็จ 3 อดีตเยาวชนที่เคยผ่านเวทีประกวด ปัจจุบันเป็นทั้งผู้ประกอบการ และอาจารย์วิทยาลัย-มหาวิทยาลัย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิสยามกัมมาจลธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวจัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยครั้งที่ 18 (The Eighteenth Thailand IT Contest Festival: IT 2019)" เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ณ ห้องโถงหลางชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
งาน IT 2019 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2562 ณ ไอซ์แลนด์ฮอลล์ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ถนนรามอินทราแขวงคันนายาวเขตคันนายาวกรุงเทพมหานครภายใต้แนวคิด“ Go together เยาวชนร่วมใจขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”
ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานด้าน วทน. เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศท่ามกลางสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและระบบนิเวศนวัตกรรมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเป็นการเตรียมทรัพยากรบุคคลระดับฐานรากของประเทศและเติบโตเป็นอนาคตที่สำคัญเพื่อนำพาประเทศก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นภารกิจหลักของสวทช.
ทั้งนี้ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มอบหมายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยครั้งที่ 18" ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ผู้มีความสามารถพิเศษและมีความสนใจเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ของตนเองมาสร้างสรรค์เป็นผลงานด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน
"ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มาผ่านเวทีการประกวดแข่งขัน ได้รับข้อเสนอแนะ ความเห็นจากกรรมการซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องซึ่งการพัฒนากำลังคนด้านวทน. ให้กับประเทศซึ่งถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของสวทช. ที่ช่วยผลักดันส่งเสริมและสนับสนุนกลไกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบ่มเพาะเด็กและเยาวชนอีกด้วย”
ภายในงานแถลงข่าวมีกิจกรรมเสวนาตัวอย่างความสำเร็จ “จากงานมหกรรม IT สู่ความสำเร็จ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนยุคใหม่ โดยบอกเล่าเรื่องราวจากความสำเร็จของรุ่นพี่คนเก่งทั้ง 3 โครงการจากความสนใจและโอกาสเล็กๆในวันนั้นสู่หนทางความสำเร็จในอาชีพที่ไม่ธรรมดาในวันนี้และพร้อมจะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ได้แก่
1.อัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท AIYA ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในโครงการการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 (NSC 2004) ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AIYA Startup น้องใหม่ที่ทำเรื่อง AI AIYA สตาร์ทอัพผู้บุกเบิกเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ AIYA มีชื่อเต็มว่า Artificial Intelligence Your Acceptance
"เรามองในเรื่องของการเอาปัญญาประดิษฐ์มาเป็นผู้ช่วยในการทำธุรกิจว่าวันนี้ทำธุรกิจยังไงให้ให้ฉลาดขึ้นเรามีสโลแกนว่า A Genius Chatbot for Your Great Business" อัจฉริยะกล่าว
2.ภูมินทร์ ประกอบแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ได้รับรางวัลที่ 2 ประเภทนิสิตนักศึกษา จากการประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 14 (YECC 2015) ภายใต้งานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยครั้งที่ 14 (IT 2015) ในผลงานชื่อ “ชุดเพาะเห็ดขนาดเล็กสำหรับครัวเรือน”
ปัจจุบันภูมินทร์เป็นครูพิเศษสอนแผนกวิชาไฟฟ้าวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ โดยแรงบันดาลใจเริ่มจากเป็นพี่ค่ายนักอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ หรือ e-Camp สู่แรงบันดาลใจในการเข้าร่วมแข่งขันรายการ YECC มองปัญหารอบตัวจากเรื่องใกล้ตัวนำไปสู่การทดลองแก้ไข แก้ปัญหาและสร้างโอกาสต่อยอดผลงานได้
3.ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition) ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ปี 2008 หรือ YSC.CS & YSC.EN 2008 และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือที่รู้จักโดยทั่วไปในนามของ อินเทลไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair-Intel ISEF) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
"จากการเป็นเด็กช่างสังเกต ความจำดี ถูกปลูกฝังระเบียบวินัย ผ่านการเล่นจากครอบครัวและการดึงความสามารถ พร้อมชี้แนะช่องทางการพัฒนาความสามารถของครูอาจารย์ เปิดโอกาสก้าวสู่เวทีการแข่งขันทั้งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) โดยแรงผลักดันแบบก้าวกระโดดให้ตัวเองได้พัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์คือ ช่วงพัฒนาต่อยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ชนะเลิศการประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (VSC) ของเนคเทค
“ผมอยากเป็นนักกระตุ้นแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่เด็กๆ” ดร.รณพีร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์ที่แหวกแนวไม่เหมือนใครเผยความตั้งใจ
สำหรับการจัดงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 18 โดยการดำเนินงานที่ผ่านมามีตัวอย่างผลความสำเร็จของเยาวชนที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในโครงการให้เห็นทุกปี เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ต่อยอด และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดจนความสำเร็จในอาชีพการทำงาน
ตัวเลขความสำเร็จตลอดระยะการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา
- มีจำนวนข้อเสนอโครงการของ (NSC/YSC) กว่า 34,000 โครงการ มีจำนวนโครงการที่ได้รับทุนเกือบ 15,000 โครงการ
- มีจำนวนผู้สนใจส่งข้อเสนอโครงการ (NSC/YSC) เฉลี่ยปีละ 5,000คน (เฉลี่ยข้อมูล6ปีย้อนหลังตั้งแต่2557-2562)
- มีจำนวนนักพัฒนาที่ได้รับทุนเฉลี่ยปีละกว่า 2,000คน (เฉลี่ยข้อมูล6ปีย้อนหลัง ตั้งแต่2557-2562)
- ในปีที่ผ่านมาเนคเทคได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของโครงการ YSC ระหว่างปี 2556-2561 มีมูลค่าประมาณ 69 ล้านบาท
การจัดกิจกรรมในครั้งที่ 18 นี้ประกอบด้วย
1.การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ปีนี้มีเยาวชนส่งโครงการเข้าร่วม 1, 760 โครงงานจาก 201 โรงเรียนทั่วประเทศโดยมีโครงงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศรวม 135 โครงงานจาก 52 โรงเรียน
2.การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC )ปีนี้มีเยาวชนส่งโครงการเข้าร่วม 1, 528 โครงงานจาก 203 โรงเรียนทั่วประเทศโดยมีโครงงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศรวม 56 โครงงานจาก 39 โรงเรียน
3.การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ปีนี้มีนิสิตนักศึกษาส่งโครงการมา 29 โครงงานผ่านการพิจารณารอบสองมา 15 โครงการจาก 7 สถาบันการศึกษาและประเภทนักเรียนมี 18 ทีมโดยกิจกรรมเพิ่มเติมในปีนี้จัดให้มีการแข่งรถผ่าน KidBright โดยให้เยาวชนใช้บอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright ในการเขียน Coding สำหรับควบควบคุมการเคลื่อนที่เพื่อพัฒนากระบวนการคิดเชิงตรรกะและสร้างสรรค์ผลงานรถมาแข่งขันในสนามแข่งจำลอง
4.โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานต่อยอดของเยาวชนรวม 14 โครงงาน โดยกิจกรรมต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ศูนย์ประสานงานระดับภูมิภาคในมหาวิทยาลัยพันธมิตรของเนคเทค องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ Intel Foundation บริษัท สิริเวนเจอร์ส จำกัด UNICEF Thailand ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจลและผู้สนับสนุนทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยในครั้งนี้
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมผลงานของเยาวชนในเวที มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยครั้งที่ 18 (The Eighteenth Thailand IT Contest Festivat IT 2019) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2562 ณ ไอซ์แลนด์ฮอลล์ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานครภายใต้แนวคิด “Go together เยาวชนร่วมใจขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ http://fic.nectec.or.th/it2019 สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่นัทธ์หทัย ทองนะ (เน) โทร. 02 5646900 ต่อ 2335 มือถือ 093 598 2496

ที่มา :  Manager online 01 มีนาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000021231]