พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี เรียกว่า “พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” และ “ผลพลอยได้” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้ แทน

““น้ำตาลทราย” หมายความว่า น้ำตาลไม่ว่าจะอยู่ในรูปใดที่ผลิตได้จากอ้อยและให้หมายความรวมถึงน้ำอ้อยซึ่งได้จากการหีบอ้อยในกระบวนการผลิตของโรงงาน และน้ำอ้อยซึ่งเคี่ยวเป็นน้ำเชื่อมหรือรูปอื่นไม่ว่าจะใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายหรือไม่ และในกรณีที่มีการนำผลพลอยได้มารวมเพื่อคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ให้หมายความรวมถึงผลพลอยได้ด้วย
“ผลพลอยได้” หมายความว่า กากอ้อย กากน้ำตาล และให้หมายความรวมถึงผลพลอยได้อื่นใดที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “โรงงาน” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้ แทน

““โรงงาน” หมายความว่า โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานซึ่งผลิตน้ำตาลทราย เว้นแต่เป็นโรงงานซึ่งผลิตน้ำตาลทรายประเภท วิธีการผลิตและกำลังการผลิต ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายด้วย”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และให้ใช้ความต่อไปนี้ แทน

“มาตรา 6 เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยในด้านการผลิตและจำหน่าย และให้เกิดความเป็นธรรมแก่โรงงานและผู้บริโภค การจัดระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ถือว่าบรรดากรรมการ อนุกรรมการและคณะทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างที่จ้างโดยใช้เงินกองทุน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้วแต่กรณี ....

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศจนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนว่าขัดต่อข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่ทำให้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อีกทั้งควรคำนึงถึงความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในระบบอ้อยและน้ำตาลทราย อันเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศและเพื่อประโยชน์ต่อชาวไรอ้อย โรงงานน้ำตาลทราย ผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอน 78 ก (23 ธันวาคม พ.ศ. 2565) หน้า 1-11

https://rkj.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/078/t_0001.pdf