พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายความว่า การให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีไว้เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายเดียวหรือบริษัทในเครือซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเสนอสินค้าหรือบริการแก่บุคคลภายนอกหรือแก่บริษัทในเครือ

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

“ผู้ประกอบการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งเสนอสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

“ผู้บริโภค” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับสินค้าหรือบริการ หรือได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้รับสินค้าหรือบริการ และให้หมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการโดยชอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงผู้ประกอบการ

“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย

“ค่าบริการ” หมายความรวมถึงค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายอื่น และบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการซึ่งเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า

(1) กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น

(2) รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา

(3) องค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา

(4) หน่วยงานของรัฐสภา

(5) หน่วยงานของศาล ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

(6) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท

(7) องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

(8) นิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงานของรัฐไม่ว่าในการใด ๆ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกานี้มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

(1) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(2) บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการโดยหน่วยงานของรัฐที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าโดยตรงหรือไม่เป็นการให้บริการที่มีลักษณะเพื่อแสวงหากำไรเป็นหลัก และได้แจ้งให้สำนักงานทราบแล้ว การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามวรรคหนึ่งต้องประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เมื่อสำนักงานร้องขอข้อมูลหรือเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานตาม (๑) ที่ได้จัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือร้องขอข้อมูลหรือเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานตาม (2) ให้หน่วยงานดังกล่าวส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูลให้สำนักงานตามรายการที่คณะกรรมการกำหนดโดยปรึกษาหารือกับหน่วยงานดังกล่าว

มาตรา 5 การควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ ......

หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์จำนวนมาก ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น สมควรที่จะต้องกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการดังกล่าว เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และกำหนดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอน 78 ก (23 ธันวาคม พ.ศ. 2565) หน้า 17-35

https://rkj.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/078/t_0017.pdf