ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราเพื่อการค้า และการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต

     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 (3) และมาตรา 153 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 16 (2) (ข) ข้อ 17 (1) (ข) และข้อ 19 (4) แห่งกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 อธิบดีกรมสรรพสามิตจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุราเพื่อการค้า และการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิตไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก 1.1 ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุรา และการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560 1.2 ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุรา และการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562 1.3 ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิตสุรา และการนำสุราออกจากโรงอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวิเคราะห์ในขั้นตอนการผลิต (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“เบียร์” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักสารละลายที่ได้จากการต้มสกัดมอลต์ข้าวบาร์เลย์กับฮอป หรือผลิตภัณฑ์จากฮอป โดยอาจใช้คาร์โบไฮเดรตจากวัตถุดิบอื่น ๆ เป็นส่วนผสมในการต้มสกัดด้วยหรือไม่ก็ได้

“ไวน์” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักผลไม้จำพวกองุ่นหรือผลิตภัณฑ์จากผลองุ่น

“สปาร์กลิ้งไวน์” หมายความว่า ไวน์ที่มีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการหมักครั้งที่สองในขวดหรือภาชนะที่ปิดสนิท

“สุราแช่ผลไม้” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักผลไม้อื่นหรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้อื่นนอกจากองุ่น

“สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้กับองุ่นหรือไวน์องุ่น

“สุราแช่พื้นเมือง” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบจำพวกน้ำตาล เช่น กระแช่หรือน้ำตาลเมา หรือจากวัตถุดิบจำพวกข้าว เช่น อุ น้ำขาว หรือสาโท หากผสมสุรากลั่นต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกินสิบห้าดีกรี

“สุราแช่อื่น” หมายความว่า สุราแช่ที่ได้จากการหมักวัตถุดิบที่มิใช่ผลไม้หรือผลิตภัณฑ์จากผลไม้ และมิใช่เบียร์และสุราแช่พื้นเมือง

“เอทานอล” หมายความว่า สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่เก้าสิบเก้าจุดห้าดีกรีขึ้นไปสำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

“สุราสามทับ” หมายความว่า สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่แปดสิบดีกรีขึ้นไป

“สุราขาว” หมายความว่า สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี

“สุราผสม” หมายความว่า สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราขาวผสมสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี

“สุราปรุงพิเศษ” หมายความว่า สุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี

“สุราพิเศษ” หมายความว่า สุรากลั่นที่ทำขึ้นตามแบบสุราต่างประเทศโดยใช้กรรมวิธีพิเศษมีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่าแปดสิบดีกรี

ข้อ 3 ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตสุราและการใช้วัตถุดิบ ดังนี้ .....

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 55 ง (10 มีนาคม พ.ศ. 2566) หน้า 38-43 (ท้ายประกาศ 5 หน้า)

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D055S0000000003801.pdf