คำตอบ

ตามความเชื่อของคนไทยเดิมมักจะคิดว่ากินหน่อไม้แล้วทำให้ปวดข้อ จึงไม่นิยมบริโภคหน่อไม้กันมากนัก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากหน่อไม้นั้นไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อมหรือปวดข้อในคนปกติเลย แต่จะมีผลกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์เท่านั้น โดยโรคเกาต์เกิดจากการเผาผลาญสารพิวรีนในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีกรดยูริคคั่งในเลือดสูงตามข้อเล็ก ๆ และอวัยวะบางแห่งทำให้เกิดอาการที่อวัยวะนั้น ๆ กรดยูริคในร่างกายเกิดได้ 2 ทางคือ เกิดจากสารพิวรีนที่ได้จากการสลายตัวของเซลล์ภายในอวัยวะร่างกาย และอีกทางเกิดจากสารพิวรีนที่เป็นส่วนประกอบของอาหารที่บริโภค เนื่องจากหน่อไม้เป็นอาหารที่มีปริมาณสารพิวรีน อยุ่ในช่วง 50-150 มิลลิกรัม/100 กรัม จัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่มีปริมาณสารพิวรีนปานกลางและอยู่ในกลุ่มเดียวกับเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลากะพงแดง ถั่วลิสง ผักโขม ถั่วลันเตา เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีปริมาณสารพิวรีนสูงโดยมีปริมาณ 150 มิลลิกรัม/100 กรัม ขึ้นไป ได้แก่ หัวใจไก่ ตับไก่ ตับหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง กระถิน ชะอม เป็นต้น ดังนั้นคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ หรือคนที่มีอาการปวดข้อจากสาเหตุอื่น ๆ สามารถบริโภคหน่อไม้ได้เป็นปกติ ส่วนผู้ป่วยโรคเกาต์ต้องมีการควบคุมปริมาณในการบริโภค

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

วราภรณ์ สกลไชย.  “หน่อไม้...อาหารสุขภาพจากธรรมชาติ”.  อาหาร.  ปีที่ 42, ฉบับที่ 3, (กรกฏาคม-กันยายน 2555) หน้า 218.