อ่านประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ฉบับเต็มที่นี่ >>
บทคัดย่อ :
โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ เป็นสารอินทรีย์ที่ประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน และซัลเฟอร์ มารวมตัวกันเป็นพอลิเมอร์ที่มีหมู่อะมิโน (amino groups) หลายร้อยหมู่เชื่อมต่อกันด้วยพันธะเพปไทด์ (peptide bonds) โดยปริมาณของโปรตีนที่พบอยู่ระหว่าง 1-1.8 % ซึ่งแตกต่างกันตามแหล่งที่มาของน้ำยาง เมื่อนำน้ำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงมือยาง พบว่ามีผู้ที่ใช้งานเกิดอาการแพ้ถุงมือยางนั้นถึง 17 % โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสกับผงแป้งหรือสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในถุงมือยาง การที่สารเคมีที่อยู่ในถุงมือยางซึมสู่ผิวหนังแล้วรวมตัวกับโปรตีนในร่างกาย และการรวมตัวกันของสารเคมีหรือผงแป้งในถุงมือยางกับโปรตีนที่มีสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ในน้ำยางธรรมชาติ เมื่อมีการสัมผัสจึงมีอาการแพ้เกิดขึ้น อาการแพ้ส่วนใหญ่จะแสดงออกในรูปของผื่นคันและผิวหนังอักเสบ การกำจัดหรือการลดโปรตีน (deproteinisation) ในน้ำยางธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาอาการแพ้ สามารถทำโดยใช้วิธีเคมี กายภาพ หรือการใช้วิธีเคมีและกายภาพร่วมกัน แต่การลดโปรตีนก็มีทั้งผลดีและผลเสียต่อคุณสมบัติของน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งเชื่อกันว่าโปรตีนในน้ำยางมีบทบาทสำคัญต่อคุณสมบัติการยืดหยุ่น (elasticity) ของยาง โดยมีข้อเสียคือ ทำให้ความเสถียรของน้ำยางลดลง (destabilization) และเปลี่ยนคุณสมบัติในการจับตัวเป็นก้อน (coagulation) ของน้ำยาง แต่ข้อดีคือ โปรตีนจะช่วยรักษาความเสถียรของคอลลอยด์ในน้ำยาง (colloidal stability) ในขณะผลิตยาง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณของโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติและปริมาณของโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เพื่อที่จะได้เตรียมน้ำยางธรรมชาติโปรตีนต่ำและแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติโปรตีนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ : ยางธรรมชาติ, น้ำยาง, โปรตีน, สารก่อให้เกิดภูมิแพ้, การลดโปรตีน, แผ่นฟิล์มยาง
Keywords : Natural rubber, Latex, Protein, Allergens, Deproteinisation, Rubber film