กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทาน ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก ย่าง ต้ม และอื่น ๆ แต่บางคนโดยเฉพาะคนรุ่นหลังอาจไม่คุ้นเคยหรือรู้จัก และหลายคนอาจไม่ชอบรับประทาน เนื่องจากน้ำเมือกที่อยู่ในฝักของมัน แต่คุณทราบหรือไม่ว่ากระเจี๊ยบเขียวมีคุณประโยชน์มากมายที่เราอาจนึกไม่ถึง เรามาทำความรู้จักกับผักสมุนไพรชนิดนี้ให้มากขึ้นกันเถอะ!!!

กระเจี๊ยบเขียว มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก ในประเทศซูดาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (L.) Moench อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีชื่อเรียกท้องถิ่นที่หลากหลาย อาทิ กระเจี๊ยบมอญ กระต๊าด มะเขือทะวาย มะเขือมอญ ถั่วเละ เป็นต้น เจริญได้ดีในเขตร้อนและเขตอบอุ่น จึงสามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคกลาง และปลูกได้ตลอดทั้งปี

ผลหรือฝักกระเจี๊ยบเขียว เป็นส่วนที่นิยมนำมารับประทาน มีลักษณะคล้ายนิ้วมือ มีสีเขียวทรงเรียวยาว ปลายฝักแหลมเป็นจีบ ผิวฝักมีเหลี่ยมเป็นสัน โดยฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาวห้าเหลี่ยม ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก และมีเมล็ดลักษณะกลมอยู่มาก ในฝักมีน้ำเมือกเหนียว เมื่อโดนความร้อนจะมีน้ำเมือกมากขึ้น ฝักอ่อนมีสีเขียว รสหวานกรอบอร่อย เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อเหนียว จึงไม่นิยมรับประทาน

คุณค่าทางโภชนาการ กระเจี๊ยบเขียว 100 กรัม ให้พลังงาน 33 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 7.45 กรัม น้ำตาล 1.48 กรัม เส้นใยอาหาร 3.2 กรัม ไขมัน 0.19 กรัม โปรตีน 1.93 กรัม น้ำ 89.58 กรัม วิตามินเอ 36 ไมโครกรัม 5% วิตามินบีหนึ่ง 0.2 มิลลิกรัม 17% วิตามินบีสอง 0.06 มิลลิกรัม 5% วิตามินบีสาม 1 มิลลิกรัม 7% วิตามินบีหก 0.215 มิลลิกรัม วิตามินซี 23 มิลลิกรัม 28% วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2% วิตามินเค 31.3 ไมโครกรัม แคลเซียม 82 มิลลิกรัม 8% เหล็ก 0.62 มิลลิกรัม 5% แมกนีเซียม 57 มิลลิกรัม 16% โพแทสเซียม 299 มิลลิกรัม 6% และสังกะสี 0.58 มิลลิกรัม 6%
หมายเหตุ % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่

สรรพคุณทางยา กระเจี๊ยบเขียวมีสารพวกกลูตาไธโอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกาย ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี และมีสาระสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังพบว่า กระเจี๊ยบเขียวช่วยป้องกันเซลล์ประสาทบริเวณฮิปโปแคมปัส ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำถูกทำลายจากสาร dexamethasone ตัวอย่างสรรพคุณทางยาของกระเจี๊ยบเขียว มีดังนี้

ผลดิบ : มีเมือกคล้ายน้ำยางใส มีเส้นใยอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารอย่างมาก ต้านเบาหวาน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมความดันให้เป็นปกติ รักษาหลอดเลือดตีบตัน ขจัดไขมัน ลดคอเลสเตอรอล เป็นยาระบายอ่อน ๆ มีสารเพกทินและกัม ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามของแผลและยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น

ผลแก่ : ต้มน้ำดื่มแก้โรคบิด ปวดท้องโรคกระเพาะ ต้มน้ำเกลือดื่ม รักษาโรคกรดไหลย้อน ช่วยขับปัสสาวะ มีสารโฟเลตสูง บำรุงเม็ดเลือดแดง แก้หวัดคัดจมูก ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด บำรุงพัฒนาทารกในครรภ์ ใบหรือยอดอ่อน ช่วยขับเหงื่อ แก้โรคปากนกกระจอก

ราก : ใช้รักษากามโรค เช่น หนองใน ซิฟิลิส ใช้ล้างแผลพุพอง
ดอก : รักษาฝี

เมนูอาหารแนะนำ >> แกงกระเจี๊ยบ
แกงกระเจี๊ยบ เป็นแกงที่คนไทยเชื้อสายมอญนิยมรับประทาน ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ฝักกระเจี๊ยบเขียว ใบกระเจี๊ยบแดง กุ้ง พริกแกงส้ม และเครื่องปรุงอื่น ๆ แกงกระเจี๊ยบเป็นแกงที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งได้มาจากใบกระเจี๊ยบแดงและมีความลื่นที่ได้มาจากน้ำเมือกของฝักกระเจี๊ยบเขียว ทำให้รับประทานได้ง่าย คล่องคอ หากผู้ใดสนใจทำรับประทาน สามารถหาสูตรการทำได้ทางอินเทอร์เน็ต รับรองทำไม่ยากและอร่อย แถมมีประโยชน์อีกด้วย

ข้อควรระวัง ควรระมัดระวังในการรับประทานผลสด เพราะกลิ่นเหม็นเขียวของกระเจี๊ยบเขียว อาจทำให้เกิดอาการเบื่อเมาได้ ดังนั้น จึงควรทำให้สุกก่อนรับประทาน และควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีสารพิษตกค้างทางการเกษตร ซึ่งหากได้รับสารพิษในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

 

เอกสารอ้างอิง
กระเจี๊ยบเขียว สมุนไพรต้านโรค บำรุงสุขภาพ. [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2566]. เข้าถึงจาก :
https://www.pobpad.com/กระเจี๊ยบเขียว-สมุนไพรต
กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณและประโยชน์ของกระเจี๊ยบเขียว 47 ข้อ. [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2566].
เข้าถึงจาก : https://medthai.com/กระเจี๊ยบเขียว
เทคโนโลยีชาวบ้าน. กระเจี๊ยบมอญ ผักเด่นเป็นยาดี ใยอาหารสูง. [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2566].
เข้าถึงจาก : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_122445
นิดานุช ชัมภูชน และคณะ. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและความเป็นพิษต่อเซลล์ประสาท SH-SY5Y ของสารสกัดผลกระเจี๊ยบเขียวชนิดห้าเหลี่ยม. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 2563. 1 (พิเศษ), หน้า 488-492. [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2566]. เข้าถึงจาก : http://www.agi.nu.ac.th/conference/agiscijournal_vol51_no1(suppl)/agro/poster/PD-8%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%8A488-492.pdf
สุภาภรณ์ ปิติพร. กระเจี๊ยบเขียว แหล่งกลูตาไทโอน ราชาสารต้านอนุมูลอิสระ. คมชัดลึก 13, 4486 (31 ม.ค. 2557) 22.