การสงวนรักษาหนังสือหายากด้วยกระดาษสา เป็นการซ่อมอนุรักษ์หนังสือที่ชำรุดเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพดีดังเดิม พร้อมใช้งานได้ หนังสือที่ชำรุด เช่น หนังสือฉีกขาดเฉพาะที่ ฉีกขาดบางหน้า ปกและสันหลุด เป็นต้น การซ่อมหนังสือเหล่านี้ถ้าชำรุดไม่มาก ผู้ดูแลหนังสือสามารถซ่อมแซมได้ด้วยตนเองโดยใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าชำรุดเสียหายมากต้องมอบให้ผู้ที่มีความชำนาญด้านการซ่อมเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติงานต้องรู้จักสภาพความชำรุดของหนังสือ สามารถดัดแปลง แก้ไข นำวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความชำรุดของหนังสือแต่ละเล่มได้เป็นอย่างดี
การสงวนรักษาหนังสือหายากนั้นไม่สามารถซ่อมได้ด้วยวิธีการเหมือนกับหนังสือธรรมดาทั่วไป การปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้องตามหลักวิชาการ บางขั้นตอนต้องใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยดำเนินการเนื่องจากมีสาเหตุของการชำรุดเสื่อมสภาพไม่เหมือนกัน
สาเหตุการอนุรักษ์เอกสาร ด้วยกระดาษสา
กระดาษสา เป็นกระดาษที่ผลิตจากเยื่อปอสา มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์หนังสือมากที่สุด เนื่องจาก มีเนื้อกระดาษสีขาว เนื้อบาง มีการกระจายตัวของเนื้อเยื่อได้ดีเนื้อกระดาษนุ่ม และกระดาษสามีอายุและสามารถคงทนได้เป็นร้อย ๆ ปี จึงนิยมใช้กระดาษสาซ่อมแซมเอกสารเก่าแก่ ที่สำคัญ ๆ อายุมาก กำลังชำรุด ผุพัง หรือกรอบหักง่าย เพื่อรักษาให้เอกสารมีอายุยืนยาวและช่วยรักษาลักษณะดั้งเดิมของเอกสาร (Authenticity) นอกจากนี้กระดาษสายังสามารถหาได้ง่าย ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ในการอนุรักษ์และสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด
การเตรียมวัสดุและอุปกรณ์
1. หนังสือหายากที่ชำรุด 11. กาวเมทธิลเซลลูโลส
2. กระดาษสาชนิดบาง 12. สารเคมีลดกรด (Magnesium carbonate)
3. กระดาษไข 13. สารเคมีเคลือบกันหมึกละลายน้ำ (PARALOID-72)
4. กระดาษซับน้ำ 14. ถังใส่น้ำเปล่า
5. แปรงขนอ่อนสำหรับปัดฝุ่น 15. ขวดฉีดน้ำ
6. มีดตัดกระดาษ 16. เครื่องอัดกระดาษ
7. พู่กัน 17. เครื่องเย็บกี่
8. ไม้บรรทัดเหล็ก 18. ด้ายและเข็ม
9. กระบอกฉีดน้ำ 19. ฟองน้ำ
10. กรรไกร
ขั้นตอนการซ่อมอนุรักษ์หนังสือหายากด้วยกระดาษสา
- วางเอกสารลงบนกระดาษไข ใช้กระบอกฉีดน้ำที่เราใส่น้ำสารเคมีลดกรดฉีดพรมน้ำยาลงบนเอกสารให้ทั่วทั้งแผ่นพอประมาณ
- ใช้แปรงขนอ่อนจุ่มกาว Methyl Cellulose ทาลงบนเอกสารเกลี่ยกาวให้ทั่วกันทั้งแผ่นบางๆ พร้อมทั้งสำรวจขนแปรงที่อาจหลุดร่วงอยู่ เมื่อพบใช้ปากคีบดึงออก
- เสริมด้วยกระดาษสาเส้นเล็ก ๆ บริเวณด้านสัน 1 ขั้น
- วางกระดาษสาปิดทับลงบนหนังสือโดยวางให้เรียบ ระวังไม่ให้เกิดรอยย่นหรือรอยพับ
- นำฟองน้ำชุบน้ำบีบพอหมาด ๆ ตบเบา ๆ ลงบนกระดาษสาโดยตบไล่อากาศจากกึ่งกลางออกไปด้านข้างของเอกสารทุกด้านเป็นการไล่ฟองอากาศเพื่อให้กระดาษเรียบทั้วกันทั้งแผ่น
- ทากาว Methyl Cellulose ทับบนกระดาษสาให้ทั่วและเรียบทั้งแผ่น
- ปิดทับด้วยกระดาษไขเพื่อป้องกันเอกสารที่เคลือบไว้ไปติดกับกระดาษแผ่นอื่น แล้วพลิกกลับไปทำอีกด้าน
การเคลือบด้านหลัง
- ดึงกระดาษไขทีวางเอกสาร ด้านบนออก ฉีดพรมน้ำสารเคมีลดกรดลงนฃบนเอกสารให้ทั่วทั้งแผ่น แล้วใช้พู่กันทากาว (Methyl Cellulose) ทำเหมือนการเคลือบหน้า
- หนังสือต้นฉบับที่ขาดหรือฉีกหายไป นำกระดาษสาที่ตัดเตรียมตัดไว้มาเสริมลงบนบริเวณที่ขาดหาย ให้มีความหนาเท่ากับเอกสารต้นฉบับ
- นำฟองน้ำบีบน้ำออก ตบด้วยฟองน้ำเบาๆ ให้ทั่วกันทั้งแผ่นโดยระวังไม่ให้ส่วนที่เสริมไว้แยกหลุดจากต้นฉบับ
- ทากาว(Metyl Celluoose) ทับบนกระดาษสาให้ทั่วและเรียบทั้งแผ่น
- นำไปผึ่งตากบนกระแกรง หรือ ที่จัดไว้ โดยไม่ให้ถูกแสงแดด
รูปที่ 1 การทากาว
รูปที่ 2 ใช้กระดาษสาแปะ
รูปที่ 3 นำไปตาก
การทำเอกสารให้เรียบ เมื่อซ่อมเสริม และเคลือบกระดาษสาเสร็จแล้ว จะต้องทำกระดาษให้เรียบ ดังนี้
- ลอกกระดาษไขที่วางรองเอกสารออกให้หมดทุกแผ่น
- ใช้กระบอกฉีดที่ใส่น้ำเปล่าฉีดพรมน้ำลงบนเอสารเล็กน้อยให้ทั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
- นำเอกสารที่ฉีดพรมน้ำแล้ววางลงบนกระดาษซับน้ำสลับกันแผ่นต่อแผ่นแล้วนำเข้าเครื่องอัดเอกสารทิ้งไว้สักครู่
- นำเอกสารออกจากเครื่องอัดเอกสารแล้วเปลี่ยนกระดาษซับทำเช่นนี้ 2-3 ครั้งจนเอกสารแห้งดีแล้วจึงนำเข้าเครื่องอัดเอกสารทิ้งไว้ 1-2 คืน เพื่อให้เอกสารเรียบและแห้ง
- นำกระดาษซับที่ใช้แล้วนำไปผึ่งให้แห้งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกจนกว่าจะชำรุด
การนำเอกสารที่อัดเรียบแล้วมาตัดกระดาษสาส่วนที่เกินออกจากต้นฉบับ
- ตัดกระดาษสาส่วนเกินออกจากต้นฉบับ
- แผ่นพับคู่ ใช้มีดตัดกระดาษสาส่วนเกินออกให้เหลือชิดกับต้นฉบับ ด้านละ 1 มม. ทั้ง 4 ด้าน
- แผ่นเดี่ยว ตัดกระดาษสาส่วนเกินออก 3 ด้าน ยกเว้นด้านซ้ายมือที่เป็นสันหนังสือตัดออกเหลือกว้างไว้ 1 นิ้วเพื่อใช้สำหรับการเย็บเล่ม
- ตรวจดูความเรียบร้อยของหนังสือทุกหน้าอีกครั้ง ว่าต้องไม่มีการโปร่งพองมีเศษวัสดุหรือกระดาษติดอยู่ในหน้านั้น ๆกระดาษที่เคลือบไม่มีการฉีดขาด
- ถ้าหนังสือเป็นยก ต้องตรวจสภาพของยกหนังสือว่า มีสภาพแข็งแรงพอในการเย็บหรือไม่เพราะเวลาพับยกหนังสือตรงรอยพับจะแตก ทำให้เกิดปัญหาในการเย็บจะต้องเสริมสันยกนั้นๆ
- ถ้าหนังสือที่ทำการอนุรักษ์มาเป็นแผ่น ๆ ต้องจัดรวมกันให้เป็นยก
- ตรวจเลขหน้าของหนังสือ และเลขหน้าหนังสือของผู้อนุรักษ์ให้ถูกต้อง
รูปที่ 4 จัดเรียงหน้าตามลำดับเลขหน้าพร้อมทีจะเย็บเล่ม
การเย็บกี่หนังสืออนุรักษ์
1. การเย็บเล่มหนังสืออนุรักษ์ จะใช้วิธีการเย็บแบบเย็บกี่ด้วยมือ เพราะการเย็บกี่ เป็นการเย็บที่เหมาะกับหนังสือที่พิมพ์เป็นยก ๆ การเย็บวิธีนี้หนังสือสามารถเปิดกางออกได้ 180 องศา และเป็นวิธีที่ดีที่สุดไม่ทำให้หนังสือชำรุด เหมือนเช่น การเย็บเจาะซึ่งกระดาษเป็นรู อุปกรณ์สำหรับใช้ในการเย็บ เรียกว่า “กี่” ลักษณะเป็นโครงไม้ 2 ชิ้น ชิ้นใหญ่สำหรับวางหนังสือ ชิ้นเล็กสำหรับผูกด้ายที่ทำเป็นเสาหลัก มีเสา 2 ข้าง มีไม้พาดขวางไว้สำหรับผูกด้าย ดัง รูป
รูปที่ 5 เครื่องเย็บกี่
รูปที่ 6 การจัดเรียงหน้า เป็นยก
วิธีการเย็บกี่ (สมมติว่า หนังสือมีจำนวนยก 3 ยก) มีขั้นตอนปฏิบัติงาน ดังนี้
1. กระทุ้งสันหนังสือให้เรียบ
2. นำหนังสือใส่ที่หนีบหนังสือให้สันเลยมา 1 เซนติเมตร
3. ทำเครื่องหมายสำหรับเย็บโดยใช้ดินสอขีดเส้นจากยกที่ 1 จนถึงยกสุดท้าย คือ ยกที่ 12
- เว้นระยะหัวหนังสือถึงจุด A ประมาณ ½ นิ้ว
- เว้นระยะหัวหนังสือถึงจุด D ประมาณ ½ นิ้ว
- หาจุดกึ่งกลางระหว่างจุด A และจุด D
- แบ่งระยะจุดกึ่งกลางถึงจุด A และจุดกึ่งกลางถึงจุด D เท่า ๆ กัน
- ทำเครื่องหมายไว้ คือ จุด B และ C
4. เลื่อยตามรอยที่ทำเครื่องหมายไว้คือ จุด A, B, C และ D ลึกประมาณ ¼ เซนติเมตร
5. คว่ำหนังสือที่เลื่อยแล้วลงบนพื้นโต๊ะ ให้ยกที่ 12 อยู่ด้านบน ยกที่ 1 อยู่ด้านล่าง การเย็บต้องเย็บยก สุดท้ายมาก่อน (ยกหนังสือที่มีเลขมากมาเย็บก่อน)
6. นำกี่มาขึงด้ายทำเสาให้เสาเชือกห่างกันเท่ากับระยะ B, C
7. นำเข็มมาร้อยด้ายให้ยาวพอประมาณทำบ่วงที่ปลายด้าย ให้ความยาวของบ่วงยาวกว่าความกว้างของสันหนังสือ
8. นำยกที่ 12 ของหนังสือมาเย็บก่อน โดยวางหนังสือหงายขึ้นบนกี่ และวางให้จุด B และ C อยู่ในเสาที่ขึงไว้
9. เปิดหน้ากลางของยก ใช้ของหนักทับไว้ เพื่อไม่ให้หนังสือเคลื่อนที่
10. แทงเข็มเข้าที่จุด D และแทงออกจุด C อ้อมเสาหลักแทงเข้าจุด C
11. แทงออกจุด B อ้อมเสาหลักแทงเข้าจุด B ออกจุด A ดึงด้ายให้ตึงให้บ่วงที่อยู่ปลายด้ายอยู่ติดกับจุด D และ ทำบ่วงที่จุด A อีก 1 บ่วง (ดังรูป)
12. นำยกที่ 11 มาวางทับลงบนยกที่ 12 ให้ตำแหน่ง B และ C ของยกที่ 11 อยู่ในเสาด้าย ของหนักที่ทับอยู่ยกที่ 12 มาทับหน้ากลางของยกที่ 11 เสร็จแล้วแทงเข็มเข้าที่จุด A ของยกที่ 11 ออกจุด B ยกที่ 11 อ้อมเสาแล้วแทงเข้าที่จุด B ยกที่ 11 แทงออกจุด C ยกที่ 11 อ้อมเสาแล้วแทงเข้าจุด C ยกที่ 11 แทงออก D ยกที่ 11 ดึงด้ายให้ตึงตั้งบ่วงที่จุด D ขึ้น สอดเข็มเข้าไปใต้ยกที่ 12 และ 11 เพื่อทำปม
13. หยิบยกที่ 10 มาวางทับบนยกที่ 11 แทงเข็มเข้าที่จุด D แทงออกที่จุด C อ้อมเสาแทงเข็มเข้าที่จุด C แทงเข็มออกที่จุด B อ้อมเสาแทงเข็มที่จุด B แทงเข้มออกที่จุด A ดึงด้ายให้ตึงสอดเข็มเข้าไปใต้ยกที่ 12 และ 11 ดึงด้ายให้ตึงผูกด้ายให้แน่น
14. การเย็บยกต่อไปโดยใช้วิธีเย็บเหมือนกันกับยกที่เย็บไปแล้วจนครบ
15. เมื่อเย็บเสร็จแล้วด้ายจะอยู่ที่จุด A หรือจุด D ก็ตามให้สอดเข็มเข้าไปใต้ยกที่เย็บไว้ก่อนแล้วเพื่อผูกด้ายเป็นเงื่อนตาย 2 ครั้ง ต้องผูกให้แน่น
16. ปลดด้ายที่ผูกเป็นเสาหลักออก ตรวจดูว่าเสาหลักที่จุด B และจุด C ซึ่งสามารถดึงขึ้นดึงลงได้ไม่ติดขัดถือว่า เย็บได้ถูกต้องตามวิธีและตัดปลายด้ายทั้ง 2 ข้างให้เหลือประมาณ 7 เซนติเมตร
17. ตัดปลายด้ายที่จุด A และ D ออกเหลือประมาณ ½ เซนติเมตร
18. คลี่ปลายด้ายทั้ง 4 เส้นออก
รูปที่ 7 การเย็บเข้าเล่มหนังสือ และหนังสือที่ซ่อมอนุรักษ์เสร็จเรียบร้อยพร้อมนำไปจัดเก็บให้ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ต่อไป และพร้อมที่จะใช้สืบค้นต่อไป
รายการอ้างอิง
1. สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.ความรู้ด้านการอนุรักษ์หนังสือหายาก.กรุงเทพฯ,2551
2. คู่มือการปฎิบัติงานงาน การสงวนรักษาหนังสือหายากด้วยกระดาษสา จัดทำโดย นายพันลบ สุขจั่นกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริกการ