กินหมูกรอบเกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เสี่ยงหลายโรค โทษที่แฝงมากับความอร่อย ในหมูกรอบมีองค์ประกอบและสารที่อาจก่ออันตราย จนนำไปสู่การเกิดโรคใดบ้าง

หมูกรอบเป็นอาหารที่ทำมาจากหมูสามชั้นวัตถุดิบเนื้อหมูสดส่วนที่ใช้มักมีส่วนกล้ามเนื้อเล็กน้อย และไขมันแทรกเป็นส่วนใหญ่ พร้อมกับหมักหรือเพิ่มรสชาติด้วยเครื่องปรุงรส ก่อนนำไปตากให้แห้งและอบด้วยลมร้อน หรือทอดในน้ำมันจนเหลืองกรอบ

คุณค่าทางโภชนาการของหมูกรอบ
เมื่อกินหมูกรอบ ร่างกายจะได้รับสารอาหารหลัก ได้แก่ ไขมัน โปรตีน โซเดียม เหล็ก โดยไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง น้ำตาล) หรือโปรตีน (เนื้อสัตว์ นม ไข่) การกินในปริมาณที่เท่ากัน 1 กรัม ไขมันจะให้พลังงานถึง 9 กิโลแคลอรี่ ขณะที่คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ หากร่างกายใช้พลังงานที่ได้รับจาการกินอาหารไม่หมด ร่างกายจะเปลี่ยนพลังงานส่วนเกินให้อยู่ในรูปไขมันสะสมในช่องท้อง กระแสเลือด และผนังหลอดเลือด นำไปสู่โรคอ้วน และโรคอื่นๆ ตามมา

สารพิษที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการปรุงสุกหมูกรอบ
เมื่อนำหมูสามชั้นมาทอดในน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและน้ำมันหมู จะเป็นการเพิ่มปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวในหมูกรอบไปอีก เนื่องจากกรดไขมันชนิดนี้จะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรต์ในกระแสเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

นอกจากอันตรายจากน้ำมันที่ทอดและไขมันในหมูกรอบแล้ว ความเค็มที่มาจากการหมักหมูกรอบก่อนนำไปทอดก็ร้ายไม่แพ้กัน เพราะอย่างที่เรารู้ว่า ทั้งเกลือและซีอิ้วต่างก็มีโซเดียมสูงมาก และการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมบ่อย ๆ จะทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงขึ้น และนำปัญหาสุขภาพมาเยี่ยมเยียนแบบไม่ได้นัดหมาย อย่างเช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคกระดูก ข้าวหมูกรอบเพียง 1 จานมีโซเดียมถึง 700-1,000 มิลลิกรัม และเมื่อเทียบในอัตราส่วนของโซเดียมที่ควรได้รับในแต่ละวันซึ่งอยู่ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน ก็ถือว่าเป็นอาหารที่ควรจะอยู่ห่าง ๆ เลยเสียดีกว่า

กินหมูกรอบอย่างไรให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงโรค
• กินหมูกรอบคู่กับผัก เติมผักลงในเมนูหมูกรอบ หรือนำไปประกอบอาหาร
• ปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงสุก เปลี่ยนจากการทอดด้วยน้ำมันเป็นการอบด้วยเตาอบหรือหม้ออบลมร้อน สามารถลดปริมาณไขมันอิ่มตัวลดการเกิดสาร PAHs และสารอะคริลาไมด์
• จำกัดปริมาณการกิน ควรกินให้พอเหมาะกับพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน
• กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต้องควบคุมปริมาณ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน จะต้องระมัดระวังปริมาณไขมันในกระแสเลือด

ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือหมอชาวบ้าน “ เรื่องกินหมูกรอบเสี่ยงโรค ควรกินอย่างไร ให้ปลอดภัยมากขึ้น” โดย อ.ดร.ศรันยา กิจดำรงธรรม และ ผศ.ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการ ณ หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ

นอกจากนี้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสารสนเทศใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้จากบัญชีรายชื่อเอกสารใหม่อิเล็กทรอนิกส์ (e-New list) ได้ที่ https://www.dss.go.th/a/qr/MmyZA หรือขอรับบริการจัดหาเอกสารฉบับเต็ม โดยสอบถามเพิ่มเติมที่ One Stop Service หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม

เอกสารอ้างอิง
อ.ดร.ศรันยา กิจดำรงธรรม และ ผศ.ดร.มลฤดี สุขประสารทรัพย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. กินหมูกรอบเสี่ยงโรค ควรกินอย่างไรให้ปลอดภัย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน บจก.

กินหมูกรอบเสี่ยงโรค ควรกินอย่างไรให้ปลอดภัย [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: https:health.kapook.com/View133782.html

Tel. : 0 2201 7250-5
e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Line : @sltd
Facebook : ScienceLibraryDSS
Website : https://siweb.dss.go.th