ขยะอาหาร...สู่เทคโนโลยีการผลิตยางล้อ

     นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นการนำขยะอาหารมาใช้ทดแทนสารฟิลเลอร์จากปิโตรเลียมซึ่งใช้ในการผลิตยางล้อมานานกว่าศตวรรษ และในเร็ว ๆ นี้ ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยางล้อโดยนำเอาขยะอาหาร ได้แก่ เปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศมาทดแทนวัสดุที่ใช้ในการผลิตบางส่วนและทำการทดสอบยางล้อที่ทำจากฟิลเลอร์ชนิดใหม่นี้พบว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตร

    สำหรับเทคโนโลยีนี้ผู้วิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไข 3 ปัญหา ได้แก่

  • การมีส่วนช่วยให้การผลิตยางล้อเป็นไปอย่างยั่งยืน
  • ลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ และ
  • กำจัดขยะอาหารจากชุมชน

    จากการผลิตยางล้อนั้น พบว่า ประมาณ 30% ของยางล้อคือวัสดุคาร์บอนแบล็ค (carbon black) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ยางล้อมีสีดำ โดยวัสดุนี้มีสมบัติช่วยให้เกิดความยืดหยุ่น แต่ราคาจะผันแปรขึ้นอยู่กับราคาของปิโตรเลียม ดังนั้น เพื่อช่วยให้การผลิตยางล้อมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นักวิจัยจึงได้คิดค้นนำเปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศซึ่งเป็นขยะอาหารที่เหลือทิ้งจากการบริโภคมาใช้กับเทคโนโลยีการผลิตยางล้อ โดยทั้งเปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศต่างเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีปริมาณมาก เนื่องจากคนอเมริกันนิยมบริโภคไข่และผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ เช่น ซอสมะเขือเทศอยู่แล้ว เมื่อนำเปลือกไข่บดและเปลือกมะเขือเทศมาทดแทนการใช้วัสดุคาร์บอนแบล็คบางส่วนพบว่า มีผลส่งเสริมกัน (synergistic effect) ให้ยางล้อมีความแข็งแรงโดยยังคงมีความยืดหยุ่นด้วย แต่ยางล้อที่ได้จะมีสีออกน้ำตาลแดง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเปลือกไข่และเปลือกมะเขือเทศที่นำมาใช้

ที่มา : The rubber international Vol. 19 Issue 4 Year 2017 pp. 48-49

ชนิดวัสดุ Recycle : Agroindustry waste ; ขยะจากอุตสาหกรรมอาหาร

ประเภทเอกสาร : Journal News