คำตอบ

การที่อาหารสัมผัสกับพลาสติกโดยตรงนั้น อาจเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีจากพลาสติก เข้าสู่อาหารได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง อยู่ภายใต้ความร้อน บรรจุในพลาสติกที่มีรอยขีดข่วน สารเคมีหลัก ๆ ที่สามารถละลายปนเปื้อนจากพลาสติก เช่น 
สไตรีน (Styrene) จากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน ผลการศึกษาความเป็นพิษพบว่า มีความเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาท ในคนงานที่มีการสัมผัสกับสไตรีนเป็นระยะเวลายาวนาน และมีผลก่อให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ตับ ไต และกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง
DEHA [Di (2-ethylhexyl) adipate]  เป็นสารพลาสติกไซเซอร์ ที่ใช้สำหรับทำให้พลาสติกเกิดความยืดหยุ่น ซึ่งเราสัมผัสและอาจรับเข้าสู่ร่างกายได้จากอาหาร น้ำ อากาศ และเครื่องอุปโภคบริโภค สำหรับบรรจุภัณฑ์พบ DEHA ได้ในฟิล์มพีวีซีห่อหุ้มอาหาร DEHA มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน ละลายปนเปื้อน สู่อาหารที่มีลักษณะเป็นมันเยิ้มได้จากการสัมผัสโดยตรง และมีการให้ความร้อนร่วมด้วย มีผลทำให้เกิดความผิดปกติของ ตับ ไต ม้าม การสร้างกระดูกและน้ำหนักตัว และอาจเป็นสารก่อมะเร็งในตับ
Bisphenol A (BPA) เป็นสารเคมีที่ใช้ทำให้พลาสติกแข็งตัวและคงรูป ทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจนของมนุษย์ได้ ละลายปนเปื้อนสู่อาหารจากพลาสติกประเภทพอลิคาร์บอเนต ผลการศึกษาความเป็นพิษพบว่า BPA มีผลกระตุ้นการเกิดเซลล์มะเร็งในต่อมลูกหมาก และเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อไปสู่ระยะเริ่มต้นของมะเร็งเต้านมในหนูทดลองและมนุษย์ การรับ BPA เข้าสู่ร่างกายในหนูทดลองแรกเกิด แม้เพียงปริมาณเล็กน้อย มีผลทำลายยีนและโครโมโซม ส่งผลให้เกิดการแท้งและความผิดปกติแต่กำเนิด และปริมาณ BPA ระดับสูงในปัสสาวะมนุษย์ส่งผลโดยตรงต่อความผิดปกติของรังไข่

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

วารสารการวิจัยและพัฒนา.  ปีที่ 25, ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน), 2553, หน้า 30-32.