คำตอบ

วัสดุเซรามิกประกอบด้วยผลึกขนาดเล็ก ๆ มาเรียงตัวกันเมื่อทำการเผา ผลึกขนาดเล็ก ๆ เหล่านี้เกิดการเผาผนึก (sintering) เชื่อมประสานกันเกิดความแข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการเผา โดยทั่วไปแล้วยังคงมีรูพรุนเหลืออยู่ในโครงสร้าง ซึ่งอากาศที่เหลือค้างอยู่ในรูพรุนเหล่านี้เอง จะเป็นตัวทำให้เกิดการกระเจิงแสง นอกจากนี้แล้ววัสดุเซรามิกมักจะประกอบด้วยสารประกอบหรือแร่หลายชนิดที่มีดรรชนีหักเหของแสงที่ต่างกันด้วย จึงทำให้วัสดุเซรามิกโดยทั่วไปมีลักษณะทึบแสง  ดังนั้นเทคนิคสำคัญที่จะทำให้วัสดุเซรามิกเกิดความโปร่งใส คือการทำให้เหลือปริมาณรูพรุนในโครงสร้างให้น้อยที่สุด ซึ่งวัสดุจะเกิดความโปร่งใสเมื่อมีรูพรุนในโครงสร้างน้อยกว่า 0.05% ดังนั้นกระบวนการเผาจึงมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการผลิตเซรามิกใส ซึ่งโดยทั่วไปมักจะทำการเผาโดยควบคุมบรรยากาศของการเผา เช่น เผาในสุญญากาศ (Vacuum sintering) หรือเผาในบรรยากาศไฮโดรเจนหรือเผาโดยให้ความดันทุกทิศทาง (Hot isostatic pressing) เพื่อที่จะไล่อากาศที่ค้างอยู่ในรูพรุนออกไป หลังจากทำการเผา ชิ้นงานเซรามิกจะถูกนำไปขัดผิวให้เรียบก็จะได้เป็นชิ้นงานเซรามิกใส

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

กานต์ เสรีวัลย์สถิต.  “เซรามิกใส”.  เซรามิกส์.  ปีที่ 16, ฉบับที่ 38, (พฤษภาคม-สิงหาคม) 2555,หน้า 48.