Title : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ได้ออกกฎหมาย GMP ฉบับใหม่ (ฉบับที่ 420) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ผลิตรายใหม่ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ส่วนผู้ผลิตรายเก่า ที่มี อ.2 หรือ สบ.1/1 หรือ สบ.1 ก่อนวันที่ 11 เม.ย.2564 ผ่อนผันให้ต้องปฏิบัติภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2564
โดยประกาศฉบับนี้ได้รวมเอาประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง GMP ทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2543
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 220) พ.ศ. 2544 เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 298) พ.ศ. 2549 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2555 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 349) พ.ศ. 2556 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำ และชนิดที่ปรับกรด ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556
มาทำให้เป็นข้อกำหนดพื้นฐานและบวกข้อกำหนดเฉพาะเพิ่มเติมแทน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการตรวจประเมิน เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจประเมินสถานประกอบการ และเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัย ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารแปรรูปเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ข้อกำหนดพื้นฐานบังคับใช้กับอาหารทุกประเภท มีข้อกำหนด 5 ข้อ
1. สถานที่ตั้ง อาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา
2. เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา
3. การควบคุมกระบวนการผลิต
4. การสุขาภิบาล
5. บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน
ส่วนที่ 2 เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ ที่มีการผลิตอาหารที่มีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะ
1. น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ และน้ำแข็งที่ผ่านกรรมวิธีการกรอง
2. ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
3. อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด ที่ผ่านฆ่าเชื้อด้วย Commercial Sterilization
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากฉบับเต็ม https://bit.ly/3kzxDYg
Source : กลุ่มงานอนุญาตอาหาร สังกัดกองอาหาร กระทรวงสาธารณสุข และ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT.)
แหล่งที่มาของภาพ : freepik.com