กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โชว์ศักยภาพ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms (ICPIM) สำหรับเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ มุ่งเป้าระยะยาวชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อให้ได้ 100% สำหรับการวิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ


          ICPIM เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล และหน่วยกระบวนการผลิตที่รองรับ มาตรฐาน GHP และ HACCP นอกจากนี้ ICPIM ยังเป็นที่ตั้งของ "ธนาคารสายพันธุ์โพรไบโอติก" ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นคุณสมบัติด้านโพรไบโอติก ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสายพันธุ์โพรไบโอติกที่อยู่ในธนาคารฯ แห่งนี้ ได้รับการเก็บรักษาภายใต้มาตรฐานสากลของ The World Federation for Culture Collections (WFCC)   ซึ่ง ICPIM ให้บริการสายพันธุ์จลินทรีย์โพรไบโอติก มากกว่า 50 สายพันธุ์ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณสมบัติการเป็นพรีไบโอติก-โพรไบโอติก เพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการส่งออก บริการทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์ และสารชีวภาพในด้านการต้านอนุมูลอิสระ การยับยั้งเซลล์มะเร็ง การสร้างและปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน การยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรค การศึกษากิจกรรมของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำตาล ไขมัน และคอเลสเตอรอล บริการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติกในอุตสาหกรรมอาหารด้วยระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล บริการทดสอบพิษวิทยาต่อหน่วยพันธุกรรม (Genetic Toxicity) ตามมาตรฐานการทดสอบความเป็นพิษ ตามหลักการ OECD GLP
        จากศักยภาพของ ICPIM ดังกล่าว วว. มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ได้คุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ และในขณะเดียวกัน วว. ทำการวิจัยพัฒนาควบคู่ไปกับการให้บริการด้วย เพื่อนำเอาจุลินทรีย์และความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร เพื่อสร้างให้เป็นพรีไบโอติกและโพรไบโอติก แล้วนำไปเป็นผลิตเป็นอาหาร อาหารเสริม ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยเสริมให้สุขภาพดีขึ้น เนื่องจากคนไทยจะมีความแตกต่างในลักษณะของสภาพร่างกายและอาหารการกินของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป เชื้อที่ได้ในประเทศของเราจะเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยมากกว่า ปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าหัวเชื้ออยู่ที่ประมาณ 300 กว่าล้านบาทต่อปี ICPIM สามารถจะชดเชยในส่วนนี้ได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงแรกของการดำเนินงาน ทั้งนี้ วว. ตั้งเป้าว่าในระยะยาวจะสามารถชดเชยให้ได้ 100% เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 
 อ่านเพิ่มเติม

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)