พญ. ธนิศา ขวัญบุญบำเพ็ญ กุมารแพทย์ด้านโภชนาการเด็ก โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า นมวัวเป็นแหล่งของโปรตีนและแคลเซียม มีประโยชน์กับคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ก็พบว่าผู้บริโภคนมวัวบางกลุ่มจะมีอาการแพ้ ซึ่งสาเหตุหลักมักเป็นการแพ้โปรตีนจากนมวัว (cow’s milk allergy) ในปัจจุบันโรคแพ้นมวัวพบได้บ่อยและมีอาการแสดงหลากหลายรูปแบบ ซึ่งปฏิกิริยาในการแพ้นมวัวอาจเกิดจากกระบวนการทำงานของแอนติบอดี้ IgE mediated หรือ  non IgE mediated หรืออาจเกิดจากทั้ง 2 อย่างร่วมกันได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังพบโรคแพ้นมวัวได้บ่อยในช่วงวัยทารกอันอาจเกิดจากระบบการย่อยอาหารของทารกที่ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่

  • อาการแพ้นม แบบเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมภายใน 15 นาที – 2 ชั่วโมง โดยมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น มีผื่นคัน ขึ้นตามผิวหนัง ลมพิษ ปากบวม ลิ้นบวม หายใจลำบาก ปวดท้อง หรืออาเจียน  

  • ถ้ารู้ว่าตัวเองแพ้ ให้งดดื่มนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 3-6 เดือนถึง 1 ปี  แล้วลองกลับมาดื่มอีกครั้ง

  • นมมีโปรตีนและแคลเซียมสูง หากต้องการรับประทานอาหารอื่นเพื่อทดแทนการดื่มนมควรเลือก อาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ หรือถั่วเมล็ดแห้ง หรืออาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็ก เต้าหู้ก้อน บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง เป็นต้น


ประวัติที่น่าสงสัยว่าแพ้นมวัว

  1. มีโรคภูมิแพ้ของบุคคลในครอบครัว
  2. มีอาการที่แสดงหลังจากเด็กดื่มนมวัว  เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวมตาบวม ถ่ายมูกเลือด หายใจติดขัดดังครืดคราด หรือผื่นแพ้ผิวหนังที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง
  3. มีประวัติว่าแม่ดื่มนมวัวในช่วงตั้งครรภ์มากกว่าปกติ ซึ่งโปรตีนในนมวัวอาจกระตุ้นให้ทารกเกิดการแพ้ได้  
  4. กรณีที่เด็กกินนมแม่อย่างเดียว ในขณะที่แม่ดื่มนมวัวมากกว่าปกติในช่วงให้นมบุตร
  5. เด็กมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ หรือมีประวัติเปลี่ยนนมมาหลายยี่ห้อ แต่ยังมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น

ซึ่งสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้ตรงจุด หากพาเด็กมาพบกุมารแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย

อาการแพ้นม

หากเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดจาก IgE mediated อาการจะเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัวภายใน 15 นาที – 2 ชั่วโมง โดยจะมีอาการแพ้ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไป เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง, ลมพิษ, ปากบวม, ลิ้นบวม, หายใจลำบาก, ปวดท้อง หรืออาเจียน เป็นต้น

หากอาการเกิดจาก non IgE mediated หรือทั้ง 2 อย่างตามที่กล่าวในตอนต้น อาการอาจเกิดขึ้นหลังดื่มนมวัว ประมาณ 6-48 ชั่วโมง ซึ่งอาการก็อาจต่างกัน เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง ถ่ายเป็นมูกเลือดหรือหายใจครืดคราด

ทำอย่างไรถ้ารู้ว่าแพ้นมวัว

ถ้ารู้ว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แนะนำให้มาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง และการปฏิบัติตัวที่ดีที่สุด คือ การงดดื่มนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวทุกชนิดอย่างน้อย 3-6 เดือน ถึง 1 ปี  แล้วลองกลับมาทดลองดื่มใหม่ในปริมาณน้อยๆ  หากไม่ใช่อาการแพ้รุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์

สำหรับทารกที่ดื่มนมแม่ สามารถกินนมแม่ต่อได้ แต่ต้องให้แม่งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงเริ่มกินนมแม่ได้ ในระหว่างที่งดนมแม่อาจพิจารณาใช้นมสูตรพิเศษทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น (extensively hydrolyzed formula)  แทนได้ แต่หากอาการแพ้ไม่ดีขึ้นค่อยพิจารณาใช้นมที่เป็นอาหารทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าสูตรกรดอะมิโน (amino acid formula) โดยมารดาที่งดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ควรได้รับการเสริมแคลเซียมทดแทน

สำหรับการรักษาอาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้นมวัวจะเป็นการงดนมวัว และให้ยารักษาตามอาการ นอกจากนี้มีการแนะนำให้เด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ที่ไม่ได้แพ้ถั่วเหลือง อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองสูตรไม่หวาน ที่มีการเสริมแคลเซียม เป็นทางเลือกได้

การป้องกันการแพ้นมวัว

ในเด็กเล็ก การดื่มนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดการแพ้อาหารได้เพราะเป็นการลดการสัมผัสโปรตีนแปลกปลอมจากนมผสม นอกจากนี้นมแม่ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย โดยไม่ควรงดนมวัวในกรณีที่ไม่มีอาการแพ้นมวัว เนื่องจากอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารในเด็กได้โดยเฉพาะแคลเซียม

ทางเลือกอื่นๆ  สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่แพ้นมวัว

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากพืชหลากหลายชนิด และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ เช่น

  1. นมจากถั่วเหลือง (Soy milk) สามารถใช้เป็นทางเลือกหากแพ้นมวัว แต่ไม่แพ้ถั่วเหลือง โดยให้เลือกนมถั่วเหลืองที่มีการเสริมแคลเซียม เนื่องจากนมถั่วเหลืองจากธรรมชาติจะมีแคลเซียมต่ำ ข้อดีคือ ราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย
  2. นมจากอัลมอนด์ (Almond milk) เป็นนมทางเลือกของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการจำกัดปริมาณแคลอรีในแต่ละวันเพราะนมจากอัลมอนด์ ให้พลังงานที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนมวัวหรือนมถั่วเหลืองในปริมาณที่เท่ากัน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยไขมันที่ดี และวิตามินอี แต่มีปริมาณโปรตีน และแคลเซียมน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง โดยเฉพาะการให้นมชนิดนี้กับเด็กอาจได้คุณค่าทางอาหารน้อย ดังนั้นควรอ่านฉลากโภชนาการก่อน และเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมแคลเซียมด้วย
  3. นมข้าวโพด (Corn milk) และนมจากข้าว (Rice milk) นมข้าวโพดและนมจากข้าวจะมีปริมาณโปรตีนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนมวัว และเหมาะกับผู้บริโภคที่มีประวัติการแพ้ถั่ว หรืออัลมอนด์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้การกินนมที่ไม่ใช่นมวัวนั้นมีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้น ผู้ผลิตบางรายก็มีการนำกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ  เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณสารอาหารในนมข้าวโพดและนมจากข้าวให้มีมากขึ้น เช่น การเสริมแคลเซียม เป็นต้น

คุณประโยชน์ของนมจากพืชแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันตามชนิดของพืช คุณภาพของวัตถุดิบ และกรรมวิธีการผลิต บางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบในระยะที่มีสารอาหารสูง เช่น ใช้ข้าวในระยะงอก หรือการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปวัตถุดิบให้คงปริมาณสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ คือ การอ่านฉลากข้อมูลทางโภชนาการ (Nutrition information) และส่วนประกอบ (Ingredients) อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งข้อควรระวังในการบริโภคนมจากพืช บางผลิตภัณฑ์มักมีปริมาณน้ำตาลสูง ควรเลือกสูตรหวานน้อยหรือไม่หวานเลย และควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน

อาหารทางการแพทย์ที่ใช้รักษาผู้ที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว

  1. Soy protein-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) ใช้รักษา ผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัวได้ อย่างไรก็ตามในถั่วเหลืองมีโปรตีน β-conglycin และ glycinin ซึ่งเป็นโปรตีนโมเลกุลใหญ่ และสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน  จึงมีการแนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลืองสำหรับรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัวในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของภาวะแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการไม่รุนแรง และแนะนำให้ใช้ในทารกอายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป หากผู้ป่วยรับประทานอาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลืองแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์ขนาดเล็กหรือสูตรกรดอะมิโนแทน
  2. Extensively hydrolyzed formula (อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์สายสั้น) เป็นสูตรอาหารที่ทำให้โปรตีนผ่านกระบวนการย่อยโดยใช้เอนไซม์ ความร้อน หรือกระบวนการ Ultrafiltration เพื่อให้แตกตัวเป็นเปปไทด์สายสั้นๆ  เพราะเนื่องจากภาวะแพ้โปรตีนจากนมวัวนั้น โปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ คือ β-lactoglobulin ดังนั้น การย่อยโปรตีนเป็นเปปไทด์สายสั้น จะทำให้ปริมาณ βlactoglobulin ในนมลดลง ซึ่งจะมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการแพ้ลดลง
  3. Amino acid-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน) เป็นสูตรนมที่ประกอบด้วย กรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acids) และกรดอะมิโนไม่จำเป็น (non-essential amino acids) ส่วนคาร์โบไฮเดรตมาจาก corn glucose polymer เป็นส่วนใหญ่ และปราศจากน้ำตาลแลคโตส ส่วนไขมันมาจากน้ำมันพืชชนิดต่างๆ  ซึ่งนมชนิดนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้โปรตีนนมวัวอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยนมสูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก
  4. Modular formula (MF, อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย) คือ นมสูตรทางการแพทย์ที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยให้เหมาะสมกับโรคแต่ละโรค โดยนมสูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายที่ใช้ในการรักษาภาวะแพ้โปรตีนนมวัว เช่น นมสูตรโปรตีนจากเนื้อไก่ หรือนมข้าวอะมิโน เป็นต้น

อาหารทดแทนนม

เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณประโยชน์ คือ มีโปรตีน และแคลเซียมสูง ดังนั้นหากต้องการรับประทานอาหารอื่นๆ เพื่อทดแทนการดื่มนมควรเลือกดังนี้

  • อาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ หรือถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
  • อาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณสูง เช่น ปลาตัวเล็ก เต้าหู้ก้อน บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง เป็นต้น

ซึ่งการกินในปริมาณที่เพียงพอ สามารถเป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้นมวัว

พญ. ธนิศา ขวัญบุญบำเพ็ญ. ทางเลือกของคนแพ้นมวัน [ออนไลน์]. 2558. [อ้างถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2564].

ข้าถึงได้จาก: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/