พักเบรคจาก Work From Home มาเดินเล่นหน้าบ้าน ได้กลิ่นหอมจากดอกไม้ รอดแล้วเรา...ยังไม่ติด Covid แน่.!!! (จมูกยังรับกลิ่นได้)

วิธีสังเกตตัวเองจากการได้กลิ่น ถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เบื้องต้นว่ายังปลอดภัยจากโรคไวรัส Covid-19 เนื่องจากการได้กลิ่นเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ที่เราอาจได้กลิ่นอาหารหรือกลิ่นของดอกไม้ต่างๆ  หากพูดถึงกลิ่นของดอกไม้ ปัจจุบันมีการนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “คันธบำบัดหรืออโรมาเทอราปี หมายถึง การใช้กลิ่นหอมบำบัดโรค”  เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพกายให้ดีขึ้น และถือเป็นวิธีการสร้างรายได้อีกรูปแบบหนึ่ง 

แล้วดอกไม้อะไรบ้าง..ที่สามารถนำไปทำคันธบำบัด

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า นอกเหนือจากปัจจัยสี่ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตแล้ว มนุษย์ยังได้พยายามสรรหาความสมบูรณ์ในรูปแบบต่างๆ มาตอบสนองตนเองเสมอ ทั้งในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียงหรือสัมผัส

เรามาดูกันค่ะว่า..ดอกไม้ชนิดใดที่สามารถนำมาทำคันธบำบัดหรืออโรมาเทอราปีได้บ้าง?? โดยในบทความนี้จะนำเสนอดอกไม้เพียง 3 ชนิดเท่านั้น 

    

ชนิดที่ 1 ดอกกรรณิการ์ (Night blooming jasmine, Night jasmine, Coral jasmine)

ดอกกรรณิการ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Nyctanthes arbor-tristis Linn. จัดอยู่ในวงศ์มะลิ (OLEACEAE) เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ ความสูงของต้นประมาณ 3-5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งหรือการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี แสงแดดแบบเต็มวันและครึ่งวัน ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม และหอมมากช่วงพลบค่ำ ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายกิ่ง โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่สามารถออกดอกได้ตลอดปี หากมีฝนหรือได้รับการตัดแต่งและมีการให้น้ำอย่างเหมาะสม สรรพคุณด้านสมุนไพรรักษาโรคได้และมีกลิ่นหอม หลอดดอกหรือก้านดอกใช้เป็นสีผสมอาหาร และย้อมผ้าได้ ด้านคันธบำบัด ช่วยลดอาการหดหู่ ผ่อนคลายจิตใจและอารมณ์ กระปรี่กระเปร่า ลดความตึงเครียด บำบัดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ สามารถใช้ผสมในน้ำมันนวดตัว จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ 

ชนิดที่ 2 ดอกแก้ว (Andaman satinwood, Chanese box tree, Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood)

ดอกแก้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack  (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Murraya exotica L.) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็น พุ่มกลมแน่นทึบ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำ ได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวันหรือรำไร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน ลักษณะของใบแก้วเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ แก้วออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี สรรพคุณด้านสมุนไพร ใบใช้ปรุงยาขับประจำเดือน เรียกว่า ยาประสะใบแก้ว เป็นยาขับลมและบำรุงโลหิต เปลือกต้น ใช้ทำเครื่องสำอาง ดอก สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ด้านคันธบำบัด สร้างอารมณ์ให้สดชื่นและโรแมนติก ทำให้ง่วงนอนเหมาะ สำหรับผสมในเครื่องสำอางและปรุงน้ำหอม หากผสมในอ่างอาบน้ำจะช่วยกระตุ้นและพัฒนาอารมณ์ ทำให้ผิวพรรณสดใส เล็บมือและเล็บเท้าเป็นเงางาม หรือหากผสมในแชมพูหรือน้ำล้างผม ทำให้เส้นผมเงางามเป็นประกาย

ชนิดที่ 3 ดอกสายหยุด (Chinese Desmos, Desmos)

ดอกสายหยุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Desmos chinensis Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)  ต้นสายหยุด จัดเป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความยาวหรือความสูงได้ประมาณ 1-5 เมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน ใบของสายหยุดเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมหรืออาจพบติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ดอกสายหยุดออกดอกเดี่ยว โดยจะออกด้านล่างตรงข้ามกับใบ เมื่อเริ่มออกดอกจะเป็นสีเขียวและต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงสีส้มอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร กลีบดอกมี 6 กลีบ แบ่งเป็น 2 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกแยกกันมี 3 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะบิดงอ โคนกลีบดอกมีรอยคอดใกล้กับฐานดอก ส่วนขอบเรียบหรือเป็นคลื่น มีขนนุ่มกระจายอยู่ทั้งสองด้าน และกลีบดอกด้านในมี 3 กลีบ เรียงจรดและแยกกัน มีขนาดเล็กและสั้นกว่ากลีบดอกชั้นนอก ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กสีเขียวเรียงห่างกันเล็กน้อย มี 3 กลีบ ปลายกลีบจะกระดกขึ้น ปลายแหลม โคนตัด ส่วนขอบเรียบ มีขนกระจายทั้งสองด้าน ดอกมีกลิ่นหอมและบานอยู่ได้นาน ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนกระจายทั่วไป โดยจะออกดอกมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม สายหยุดมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการท้องอืด รักษาไข้หวัด แก้อาการวิงเวียนศีรษะ สามารถนำผลและเมล็ดมาต้มน้ำดื่ม แก้อาการถ่ายเป็นน้ำหรือท้องเสียและช่วยขับพยาธิ รากนำมาล้างน้ำและต้มดื่ม ช่วยแก้อาการตัวร้อน เป็นไข้ ช่วยแก้โรคบิดได้ ด้านคันธบำบัด ช่วยผ่อนคลายความเครียด บำรุงจิตใจ บำรุงประสาท กระตุ้น ระบบหมุนเวียนโลหิต ลดอาการหดหู่ รักษาระดับความดันในเส้นเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ต้านการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณในการบำบัดอาการหัวใจเต้นเร็ว สามารถลดระดับความดันเลือดและผ่อนคลายอาการเครียดเกร็งของระบบประสาท ใช้ผสมในน้ำมันทาถูนวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อและอาการปวดเส้นประสาท ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ ช่วยไล่แมลง และมีผลต่อการระคายเคืองของผิวหนัง และมีสารสำคัญในการฆ่าเซลล์มะเร็งอีกด้วย

.

จากที่กล่าวไปในข้างต้น เป็นเพียงดอกไม้แค่ 3 ชนิดเท่านั้นยังมีดอกไม้อีกมากมายที่สามารถนำมาทำคันธบำบัดได้ หากท่านสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นผ่านช่องทาง...

เว็บไซต์หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้วฯ กรมวิทยาศาสตร์บริการ http://siweb.dss.go.th  หรือ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ได้เลยค่ะ

.

แหล่งอ้างอิง

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อความงาม. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 14 มกราคม 2564].  เข้าถึงจาก: https://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book541/thai.html

กรรณิการ์. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 14 มกราคม 2564].  เข้าถึงจาก: http://xn--o3cdbaevbumi7e7euch5pc3gc.blogspot.com/2012/03/blog-post_3649.html

ดอกกรรณิการ์. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 14 มกราคม 2564].  เข้าถึงจาก: https://sites.google.com/site/tnkrrnikar/

กรรณิการ์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกรรณิการ์ 34 ข้อ !. !. [ออนไลน์].  สิงหาคม, 2560. [อ้างถึงวันที่ 15 มกราคม 2563]. เข้าถึงจาก: https://medthai.com/กรรณิการ์/

แก้ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแก้ว ดอกแก้ว 32 ข้อ !. [ออนไลน์].  สิงหาคม, 2560. [อ้างถึงวันที่ 15 มกราคม 2563]. เข้าถึงจาก: https://medthai.com/แก้ว/

สายหยุด สรรพคุณและประโยชน์ของดอกสายหยุด 10 ข้อ !. [ออนไลน์].  สิงหาคม, 2560. [อ้างถึงวันที่ 15 มกราคม 2563].  เข้าถึงจาก: https://puechkaset.com/สายหยุด/

นวลพรรณ พงศ์วุฒิ.  พืชสมุนไพรกับการปรุงเครื่องหอมไทย.  นนทบุรี:พิมพ์ทอง, ม.ป.พ., 11-12, 65-67,  89-91, 182-184

- - - - - - - 

เรียบเรียงโดย นางสาวพรทิพย์ เส็นสด นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี