ใกล้เข้ามาแล้ว..สำหรับเทศกาลวันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์) วันนี้ถือเป็นวันพิเศษสำหรับคู่รักอีกวันหนึ่งที่นิยมบอกรักกันผ่านถ้อยคำหวานๆ หรือของขวัญแทนใจ ซึ่งของขวัญที่เป็นที่นิยมอันดับแรก คงหนีไม่พ้น ..ดอกกุหลาบ..

กำเนิดกุหลาบ

กุหลาบ เป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแต่โบราณเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว มีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกุหลาบนั้นเป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์จนขยายเป็นพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย

ตามประวัติศาสตร์เล่าว่า กุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์ก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน เนื่องจากชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก สำหรับชาวโรมันแล้วดอกกุหลาบมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน เพราะชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เป็นทั้งของขวัญและดอกไม้สำหรับทำมาลัยต้อนรับแขก รวมถึงเป็นดอกไม้สำหรับงานฉลองต่าง ๆ และยังเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์และยาได้อีกด้วย

กุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก โดยมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของเทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่า ดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ ที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม

  

สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่า ดอกกุหลาบเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเมื่อไหร่ แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

.

กุหลาบ มาจากคำว่า “คุล” ในภาษาเปอร์เชีย แปลว่า “สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ” และเข้าใจว่าจากเปอร์เซียได้แพร่เข้าไปในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดีมีคำว่า “คุล” แปลว่า “ดอกไม้” และคำว่า “คุลาพ” หมายถึง กุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น “กุหลาบ” ส่วนคำว่า “Rose” ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า “Rhodon” ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก

.

กุหลาบมีชื่อสามัญว่า "Rose" ชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า "Rosa hybrids" และมีชื่อวงศ์ว่า "Rosaceae" กุหลาบเป็นไม้ดอกที่มีความงามยากที่ไม้ดอกอื่นจะเทียบ จนได้รับชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งดอกไม้" (Queen of flower) มีพันธุ์ประมาณ 200 สปีชี่ส์ พันธุ์ดั้งเดิม (wild species) มีทั้งชนิดกลีบดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ลักษณะของกุหลาบนั้นมีทั้งไม้พุ่มและไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งจะมีหนาม ส่วนดอกของกุหลาบจะมีทั้งดอกเดี่ยวและเป็นช่อ กลีบดอกมีลักษณะใหญ่ ไม่ต่ำกว่า5 กลีบ กุหลาบมีกลิ่นหอมชวนดม และมีหลายสี เช่น แดง ขาว เหลือง ชมพู ฯลฯ

.

สีของกุหลาบสื่อความหมายอะไร

สีแดง :: "รักคุณเข้าแล้ว" ความรักและความปรารถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอสเป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ

สีขาว :: "ฉันรักคุณด้วยความบริสุทธิ์ใจ" ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง

สีชมพู :: "ฉันจะรักและดูแลคุณตลอดไป" ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์

สีเหลือง :: "เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ"

สีส้ม :: "ฉันรักคุณเหมือนเดิมนะ"

นอกจากสีของกุหลาบที่สื่อความหมายแทนใจแล้ว กุหลาบยังมีประโยชน์อีกมากมาย กลีบของกุหลาบ สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง ???

    

กลีบของกุหลาบอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินเกลือแร่ต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ อาทิ โพแทสเซียม (สารที่จำเป็นต่อระบบการทำงานของหัวใจ) แร่ธาตุทองแดง (ช่วยกระบวนการสร้างเม็ดเลือด) วิตามินซี วิตามินเค สารแคโรทีน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยในเรื่องการบรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ บำรุงร่างกายให้แข็งแรง รักษาแผลหรือการอักเสบในกระเพาะอาหาร ลดการอักเสบของผิวหนัง หากเรานำกลีบมาสกัดก็จะได้ “น้ำมันหอมระเหย” ที่จะช่วยคลายเครียด ผ่อนคลาย ช่วยให้สมองในระบบจดจำทำงานได้ดีขึ้น นอนหลับง่ายขึ้น ระบบเลือดไหวเวียนสมบูรณ์ ระงับอาการประสาท ความเครียด เพิ่มความรู้สึกทางเพศ ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ปวดศีรษะและอาการหวัดได้ นอกจากนั้น บางตำราในทางศาสตร์สุคนธบำบัดยังบอกอีกว่า น้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบ ช่วยให้ร่างกายทำงานอย่างสมดุล ปรับระบบต่างๆ อาทิระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง ขับระดู ลดอาการปวดประจำเดือน คลายกล้ามเนื้อ ช่วยฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สมานแผลทั้งภายนอกและภายใน

.

นำกลีบของกุหลาบมาทำเป็น “ชากุหลาบ” เราจะได้คุณค่าจากกลีบหรือจะนำกลีบกุหลาบแห้งมาบดให้ละเอียดเป็นผง เมื่อนำไปผสมกับน้ำผึ้งเราก็จะได้ยากุหลาบปราบแผลในช่องปาก ทั้งยังแก้ปัญหาอักเสบของเหงือกและฟันได้

.

ถ้าอยากจะสวยดั่งฉายาราชินี ก็แค่นำดอกกุหลาบสดประมาณ 4-5 ดอก รินน้ำเดือดในปริมาณท่วมดอก ปิดฝาทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นเทเอาแต่น้ำ ก็สามารถนำมาใช้ล้างหน้าแทน “โฟม”หรือ “สบู่”  หรือจะ "อาบน้ำแช่ดอกกุหลาบ" ที่นอกจากจะได้ผิวพรรณที่สวยงามและสดชื่นแล้ว ยังสามารถช่วยคลายเครียด แก้ปวดกล้ามเนื้อต่างๆ ได้ หรือถ้าเราจะดัดแปลงโดยการนำกลีบกุหลาบแห้งมาบดเป็นผง เติมน้ำเล็กน้อย ผสมให้เข้ากัน นำมาทาทั่วใบหน้า 10-15 นาที ก็จะได้ “มาส์กกุหลาบ” ที่แก้ปัญหาหน้ามัน ปัญหาสิว กลับมามีผิวหน้าที่สดใส เปล่งปลั่ง ได้อีกด้วย

จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้เรากล้าพูดว่า...กุหลาบ..ครบทุกคุณค่าที่แท้ทรู มีคุณประโยชน์ครบทั้งในด้านความสวยงาม คุณค่าทางจิตใจ สุขภาพ และความสวยความงาม จึงไม่แปลกใจเลยที่ “กุหลาบ” ยังคงเป็นดอกไม้แทนความรักที่สวยงามในทุกยุคทุกสมัยเสมอมา

.

แหล่งอ้างอิง

ดอกกุหลาบ ประวัติและความหมายของดอกกุหลาบ. [ออนไลน์].  กุมภาพันธ์, 2563 [อ้างถึงวันที่ 28 มกราคม 2564].  เข้าถึงจาก : https://hilight.kapook.com/view/17583

กุหลาบ” สรรพคุณที่มีมากกว่าแทนค่าความรัก. [ออนไลน์].  กุมภาพันธ์, 2558 [อ้างถึงวันที่ 28
           มกราคม
2564].  เข้าถึงจาก : 
https://mgronline.com/goodhealth/detail/9580000017659

กุหลาบ. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 28 มกราคม 2564].  เข้าถึงจาก:  http://natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/510-482web/510-482web-1-10-46/Rose.htm

ตำนานดอกกุหลาบ. [ออนไลน์].  [อ้างถึงวันที่ 28 มกราคม 2563]. เข้าถึงจาก : https://www.panmai.com/Valentine/rose_legend.shtml

ศักดิ์ บวร.  น้ำมันดอกกุหลาบ.  กรุงเทพฯ:รหัส, 2542, 30-43

 .

เรียบเรียงโดย นางสาวพรทิพย์ เส็นสด นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี