หากใครมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ที่บ้าน อาจจะเคยเห็นท่านชมโฆษณาทางทีวีที่พบได้ทั้งวัน กับ เครื่องดื่มผสมถั่งเช่า ที่อ้างสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพมากมาย จริงๆ แล้วถั่งเช่าคืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายมากแค่ไหน และควรรับประทานมากน้อยแค่ไหน มาศึกษากันอย่างละเอียดกันดีกว่า

ถั่งเช่า คือ อะไร ?


ถั่งเช่า เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ก็มาจากเชื้อราเจริญเติบโตบนซากหนอน มีสรรพคุณเชิงเภสัชสมุนไพรหลายอย่าง และสามารถบริโภคได้ ถ้าไม่กินเยอะเกินไป หรือมีอาการแพ้ รวมถึงผู้ป่วยบางโรค

.
ถั่งเช่า ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออก

.

จากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อยๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง

.
ถั่งเช่าที่มีชื่อเสียง มีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่
1. เห็ดถั่งเช่าทิเบต ( Ophiocordyceps sinesis )
2. เห็ดถั่งเช่าสีทอง ( Cordyceps militais )
3. เห็ดถั่งเช่าหิมะ ( Isaria tenuipes )
4. เห็ดถั่งเช่าจักจั่น ( Isaria sinclairii )

.

ถั่งเช่า ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol)นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ (E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่างๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น

.
นอกจากนี้ ถั่งเช่า มีสรรพคุณทางยาแผนโบราณที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศจีนในเรื่องของกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ และใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ และไต เป็นต้น

.
จากการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการทานถั่งเช่า

  1. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวานเนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
  2. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
  3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
  4. กลุ่มของคนไข้ที่มีเชื้อ HIV ต่ำ เช่น มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอาจจะเกิดปัญหาการติดเชื้อราได้
  5. ควรระมัดระวังปริมาณที่รับประทาน ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3-9 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้
  6. การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
  7. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

.

ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ ถั่งเช่า และควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ถั่งเช่าในการรักษาโรคเพื่อความปลอดภัยและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

เอกสารอ้างอิง

  1. “ถั่งเช่า” มีประโยชน์จริงหรือ ?. 2564. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงจาก : https://www.sanook.com/health/26861/
  2. ถั่งเช่า คืออะไร กี่ประเภท. 2563. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/index.php/th/search-form/1915-2020-01-23-03-29-48
  3. ถั่งเช่ามีสารอะไรบ้าง. 2563. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564] เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/index.php/th/search-form/4703-2020-06-18-07-21-27
  4. ถั่งเช่า มีสารสำคัญอะไรบ้าง และมีสรรพคุณอะไร?. 2563. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564] เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/index.php/th/search-form/1914-2020-01-23-03-29-09

.

เรียบเรียงโดย : เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี