ผงชูรส มีสารสำคัญ คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมท หรือ MSG ซึ่งประกอบด้วยโซเดียม และกรดกลูตามิก โซเดียมคือเกลือ ส่วนกรดกลูตามิกคือกรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน กรดกลูตามิกเป็นแหล่งให้พลังงานแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างกรดอะมิโนจำเป็นตัวอื่น และยังเป็นส่วนประกอบของสารกลูตาไธโอนอีกด้วย องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้จัดให้ MSG เป็นสารที่ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า Generally Recognized as Safe (GRAS)

.
มีการรายงานผลของ MSG ต่อร่างกายในวารสารทางการแพทย์ตั้งแต่ 40 กว่าปีมาแล้ว โดยพบในผู้ที่รับประทานอาหารจีน และเกิดอาการชาที่แขน คอ และหลัง ร่วมกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ใจสั่น แน่นหน้าอก หน้าแดง และเป็นลม และเป็นอาการที่รู้สึกไม่สบายชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในบางคนเท่านั้น โดยกลุ่มอาการดังกล่าวเรียกว่า Chinese restaurant syndrome หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ MSG symptom complex นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า อาจจะมีการกระตุ้นให้โรคหอบหืดและไมเกรนกำเริบได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเพราะ MSG หรือไม่ เพราะในอาหารมีส่วนประกอบหลายชนิด อีกทั้งข้อมูลจากการทดลองอย่างรอบคอบแบบไม่ให้ผู้ทดลองและผู้ถูกทดลองทราบ ผลปรากฏว่าผู้ที่เคยอ้างว่าเกิดอาการข้างต้น กลับไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้นเลยเมื่อรับประทาน MSG ดังนั้น อาการดังกล่าวที่เคยมีรายงานนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวกับ MSG

.
กินผงชูรสแล้วผมร่วง...
สำหรับเรื่องผมร่วงยังไม่พบว่ามีรายงานในวารสารทางการแพทย์ หรือแม้แต่ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างที่พบได้บ่อย ๆ คือคนที่ผมบาง หรือเป็นโรคผมร่วงมักจะพยายามหาสาเหตุหรือคำอธิบายต่าง ๆ นานา ว่าทำไมผมถึงบาง แล้วก็มักจะนำเรื่องมาผูกกับอาหารการกิน และการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งที่จริงแล้วเกิดจากความผิดปกติของหนังศีรษะและเส้นผม หลายครั้งที่พบว่าบางคนลองหลีกเลี่ยง MSG แล้ว แต่ผมก็ยังร่วงอยู่ คำตอบนี้ก็พอจะยืนยันได้ว่า MSG กับผมร่วงไม่เกี่ยวกัน ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ MSG กับผมร่วงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดที่ถูกบอกกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นมากกว่า
.
3 ประโยชน์ของ “ผงชูรส” ที่คุณอาจไม่เคยรู้
ทำอาหารทานเองที่บ้านเมื่อไร หลายคนก็มักที่จะหลีกเลี่ยงการใส่ผงชูรสลงไปในอาหารอย่างเด็ดขาด ด้วยเข้าใจว่าผงชูรสให้โทษต่อร่างกาย บ้างก็ว่าทานมาก ๆ แล้วผมร่วง แต่จริง ๆ แล้วผงชูรสก็มีประโยชน์ และผงชูรสมีข้อดีอย่างไร มาดูกัน

.

1. ช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้แก่ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุหลายท่านเริ่มทานอาหารไม่ค่อยอร่อย เพราะต่อมรับรู้รสชาติเริ่มทำงานไม่ไวต่อรสชาติมากเท่าสมัยยังหนุ่มสาว จึงทำให้ผู้สูงอายุหลายท่านเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร และค่อย ๆ ผ่ายผอมลงเรื่อย ๆ วิธีแก้ไขง่ายนิดเดียว เพียงเพิ่มผงชูรสลงไปในอาหารเพียงเล็กน้อย จะทำให้ผู้สูงอายุรับรู้รสชาติ “อูมามิ” หรือรสชาติอร่อยกลมกล่อมของอาหารได้มากขึ้น ช่วยเจริญอาหารได้มากขึ้นนั่นเอง

.
2. ช่วยให้กระเพาะอาหาร และต่อมน้ำลายทำงานดีขึ้น 

ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะอาหารฝ่อ หรือต่อมน้ำลายทำงานได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดอาการน้ำลายแห้ง และเบื่ออาหาร การเพิ่มรสชาติอูมามิผ่านผงชูรสลงไปในอาหาร จึงช่วยกระตุ้นความอยากอาหารให้ผู้ป่วยทานอาหารได้มากขึ้น ทานอาหารได้อร่อยขึ้นนั่นเอง

.
3. ช่วยลดปริมาณโซเดียมในอาหารได้
ในคนที่ติดรสชาติเค็ม ปรุงอาหารโดยน้ำปลา หรือเกลือแกงจำนวนมาก เพื่อให้ได้รสชาติที่ต้องการ หากเปลี่ยนมาใส่เกลือแกงน้อยลง แล้วใส่ผงชูรสลงไปเล็กน้อย จากผลงานวิจัยพบว่าได้รสชาติอร่อยถูกใจไม่แพ้กัน ดังนั้นการใส่ผงชูรสลงไปในอาหารเล็กน้อย จะช่วยให้เราใส่เกลือแกงได้น้อยลง โดยที่รสชาติไม่เสีย

.
จะเห็นได้ว่าหากใส่ผงชูรสปริมาณเล็กน้อย ไม่ได้ทำสุขภาพของเราเสียแต่อย่างใด แถมยังมีประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ด้าน เพียงแต่ต้องทานเพียงเล็กน้อย และต้องมั่นใจว่าเป็นผงชูรสแท้เท่านั้น ใครที่แพ้ผงชูรสคงต้องงดต่อไป ใครที่อยากลดการทานเค็ม แต่พอไม่ใส่เกลือไม่ใส่น้ำปลาก็รู้สึกอาหารไม่อร่อย ก็ลองใส่ผงชูรสปลาย ๆ ช้อนชาได้ ส่วนใครที่ยังมีความกังวลก็เลี่ยงที่จะไม่ทานได้เหมือนเดิม

.
ผงชูรสแท้จะต้องมีโมโนโซเดียมกลูตาเมทโมโนไฮเดรท ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของน้ำหนัก หากเป็นผงชูรสผสมจะมีโมโนโซเดียมกลูตาเมทโมโนไฮเดรท น้อยกว่าร้อยละ 50

.
เอกสารอ้างอิง
3 ประโยชน์ของ “ผงชูรส” ที่คุณอาจไม่รู้ [ออนไลน์]. 2561. [อ้างถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.sanook.com/health/4945/?fbclid=IwAR1h_IWZAH1lh9EHF-2SAQ2OiZ5xbqqsCcV3S65drWjgrhUu-fbVaiqXLeA
ตามมาตรฐานข้อกำหนดของผงชูรส ผงชูรสแท้ และผงชูรสผสม ต่างกันอย่างไรบ้าง ? [ออนไลน์]. 2563. [อ้างถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564]. เข้าถึงจาก: http://siweb.dss.go.th/index.php/th/search-form/1923-2020-01-23-03-43-20
วาสนภ วชิรมน. กินผงชูรสมากทำให้ผมร่วงจริงหรือไม่ ? [ออนไลน์]. 2555. [อ้างถึงวันที่ 30 มีนาคม 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue004/believe-it-or-not?fbclid=IwAR32jQ0DsKmUg25dAY3yLVlALo9Hn7FxcMTd5MxEgDS9GFIc5MHaYoH_nqk