คำตอบ

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องมีการสื่อสารข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้องตลอดทั่วทั้งองค์กร ต้องมีการระบุถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารที่ผู้ประสบเหตุสามารถใช้แจ้งเหตุไปยังผู้มีอำนาจสั่งการหรือหน่วยงานฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และต้องมีการจัดทำ “รายการเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน” ซึ่งระบุรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์มือถือรวมทั้งเบอร์โทรศัพท์บ้านของผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทุกคน นอกจากนี้ยังต้องมีการระบุชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปฏิบัติงานทดแทนในตำแหน่งสำคัญ ๆ เผื่อไว้ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบหลักได้อีกด้วย
  ขั้นตอนการแจ้งเหตุ อาจจะประกอบด้วยแผนผังรูปภาพ และแบบแสดงรายการ ที่ระบุชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึงชื่อผู้ที่รับผิดชอบในการแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นให้ได้รับทราบ และมีการระบุวิธีแจ้งเหตุ เช่น ทางเพจเจอร์ มือถือ โทรศัพท์ เป็นต้น ตลอดจนมีการระบุถึงระบบการกระจายการแจ้งเหตุ ว่าเมื่อใดจะมีการโทรติดต่อไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่สามารถโทรติดต่อบุคคลสำคัญเป็นรายบุคคลหรือพร้อม ๆ กันได้ในคราวเดียวในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินระดับรุนแรง ซึ่งรายการเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินนี้ควรถูกติดไว้ในบริเวณพื้นที่สำคัญ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งาน หรืออาจจะใช้วิธีการแจกจ่ายเป็นการ์ดแบบพกพาก็ได้

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ศิริพร วันฟั่น.  “แนวทางการจัดการเหตุฉุกเฉินอุบัติภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย”.  Industrial. ปีที่ 18, ฉบับที่ 239, (ตุลาคม) 2555 หน้า 99.