คำตอบ

มาตรฐาน จี เอ พี  หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า GAP ย่อมาจากคำว่า “Good Agricultural Practice” ซึ่งเป็นระบบการสร้างผลผลิตที่ได้คุณภาพตรงตามมาตรฐาน หรือได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อและการขนส่งเพื่อจำหน่าย ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกค้างของสารเคมี ตลอดจนเชื้อโรคต่าง ๆ เกษตรกรผู้ผลิตจึงปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และได้ผลผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค อีกทั้งสามารถตรวจสอบและสอบทวนย้อนกลับได้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่ผ่านมาตรฐาน จี เอ พี นั้น จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร หรือการนำมาบริโภคโดยตรง เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ ที่มาจากสวนซึ่งผ่านมาตรฐานการผลิตตามแบบ จี เอ พี
  การรับรองมาตรฐาน จี เอ พี จะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่แหล่งที่มาหลัก ๆ ของการปนเปื้อน ได้แก่ ดิน น้ำ มือ และพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนั้นต้อง “สะอาด” การปลูกพืชด้วยระบบ จี เอ พี เป็นการดูแลตั้งแต่การเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว โดยเกษตรกรต้องบันทึกการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ศกลวรรณ ประสิทธิ์วิไล.  ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อะไร หากผู้ผลิตหันมาใส่ใจ จี เอ พี (GAP). อาหาร. ปีที่ 44, ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) 2557 หน้า 28-29