คำตอบ

สารกันแดด เป็นสารที่มีความสามารถในการกรองแสงแดดและปกป้องผิวหนังด้วยกลไกการดูดหรือสะท้อนแสง โดยเฉพาะแสงในช่วงคลื่นรังสียูวี โดยแบ่งสารกันแดดตามกลไกได้ 2 ประเภท คือ
1. สารกันแดดประเภทเคมี (chemical sunscreen) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ดูดรังสียูวีไว้ แทนที่จะให้ผ่านไปทำลายผิวหนัง เช่น oxybenzone สารเหล่านี้ให้ผลดีในการกันแดดและจะให้ผลก็ต่อเมื่อซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนัง ดังนั้นการใช้สารกันแดดประเภทนี้จึงต้องทาก่อนที่จะถูกแดด 20-30 นาที  อีกทั้งอาจทำให้ระคายเคืองหรือแพ้ได้ สารประเภทนี้จะถูกละลายในผลิตภัณฑ์ตามสูตรตำรับเนื่องจากสารประเภทนี้จะเสียสภาพในการป้องกันแสงแดดไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อคงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจึงควรทาใหม่ทุก ๆ 2 ชั่วโมง
2. สารกันแดดประเภทกายภาพ (physical sunscreen) โดยการสะท้อนหรือกระจายแสงด้วย
กลไกทางกายภาพ เป็นโลหะออกไซด์ที่มีความสามารถในการเคลือบผิวและสะท้อนแสง โลหะออกไซด์ที่ว่านี้มี 2 ตัว คือ ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) และซิงค์ออกไซด์ (zinc oxide) โดยมีผลทั้งต่อช่วงคลื่นรังสียูวี (UV) และช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ (Visible) สารกลุ่มนี้จะให้ผลดีต้องทำให้เคลือบผิวหนังได้ทั่วถึงและละเอียด รวมทั้งเคลือบผิวหนังได้หนาเพียงพอ ข้อดีที่สำคัญคือ สามารถกันแดดได้โดยไม่ต้องถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนัง สารกลุ่มนี้ไม่ละลายในส่วนผสมของสูตรตำรับจึงต้องการสูตรที่มีส่วนช่วยให้ผงสารกันแดดกลุ่มนี้กระจายตัวดี เคลือบผิวได้โดยไม่รู้สึกว่ามีสารเคลือบผิว ไม่ทำให้รู้สึกมันหรือเหมือนหน้ากาก

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

อรุณศรี  ปรีเปรม และ ปฏิภาณ  ธัชธร. สารกันแดดยุคนาโน.  นิตยสาร สสวท. ปีที่ 36,ฉบับที่ 155,(กรกฎาคม-สิงหาคม), 2551.  หน้า 13-15.