หลอดทำจากวัสดุธรรมชาติ ทางเลือกใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทย ได้มีการคิดค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มาใช้แทนหลอดพลาสติกกันอยู่หลายวิธี และหนึ่งในนั้น คือ หลอดกินได้ ที่ทำจากพืช อย่างมันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด บุก และพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยผ่านกระบวนการผลิต ที่อยู่ภายใต้งานวิจัย ของหน่วยงานของภาครัฐ และสถาบันการศึกษา จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลอดกินได้

หลอดจากพืชตามธรรมชาติ กินได้ ย่อยสลายเร็ว
โดยหลอดกินได้ นี้ เป็นไอเดียของ “สุรพร กัญจนานภานิช” เจ้าของบริษัท กัญจนาพร(สยาม)จำกัด ผู้ผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวฮาง ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้นำไอเดียการแปรรูปพืชตามธรรมชาติ และข้าวที่มีผลผลิตอยู่แล้วไปปรึกษา กับหน่วยงานที่ส่งเสริมด้านงานวิจัย หลายแห่ง เพื่อที่จะทำหลอดที่สามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติก ที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และหลอดที่สามารถผลิตได้ไม่เพียงแค่สามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หลอดที่ได้ยังสามารถรับประทานได้ โดยที่ไม่เป็นอันตราย เพราะทำมาจากพืชตามธรรมชาติ และที่สำคัญยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับคุณสมบัติของหลอด คือ สามารถแช่ในน้ำร้อนได้ 35 นาที และแช่ในน้ำเย็น และน้ำอุณหภูมิปกติได้ 6-12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเหมือนเดิม และถ้าปล่อยไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ30 วัน หรือถ้าจะรับประทาน ต้องแช่น้ำ 3-5 นาที หลอดนิ่มและรับประทานได้ ซึ่งการใช้หลอดโดยปกติ คนทั่วไปใช้ไม่เกิน 10-15 นาที เลิกใช้และทิ้ง ดังนั้น หลอดกินได้ ซึ่งสามารถคงได้นานกว่านั้น จึงไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้ คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ถ้ารับประทานเข้าไป ช่วยเกษตรกรให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้ทดลอง โดยให้คนรอบข้าง ได้ทดลองใช้ทุกคนค่อนข้างพอใจ เพราะจะไม่นิ่มเหมือนหลอดกระดาษ และไม่มีกลิ่นสารเคมี แต่เป็นกลิ่นของพืชตามธรรมชาติ
กว่าจะได้หลอดกินได้ ต้องผ่านการวิจัยถึง 3 สถาบัน
ในส่วนของการผลิต เนื่องจากต้องการทำหลอดให้เป็นสินค้ารักษ์โลก ที่สามารถย่อยสลาย หรือ กินเข้าไปได้เลยทันที แต่การทำหลอดให้สามารถใช้งานได้ หลอดจะต้องแข็งขึ้นรูป ซึ่งส่วนผสมต่างๆ ที่นำมาใช้ทำหลอด ทุกตัวมีคุณสมบัติ คือ ไม่ชอบน้ำโดนน้ำดูดซับน้ำและหยุ่ย แต่ทำอย่างไรให้ ส่วนผสมพืชเหล่านี้ สามารถอยู่ในน้ำได้ โดยไม่เสียรูปทรง ตรงนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการคิดวิจัย ที่สลับซับซ้อนอยู่พอสมควร
“สุพร” กล่าวว่า กว่าจะได้หลอดครั้งนี้ ต้องปรับกันหลายครั้ง โดยครั้งแรกใช้ ส่วนผสมหลักเป็นแป้ง ที่ได้มาจากข้าว แต่แป้งดูดน้ำและหยุ่ยไม่สามารถเป็นหลอดที่แข็งแรง ต้องเปลี่ยนส่วนผสมหลักอย่างแป้งให้ลดน้อยลง ตอนนี้ แทบจะไม่มีส่วนผสมของแป้งจากข้าวเลย และหันมาศึกษาพืชชนิดอื่น และนำทดลองอยู่หลายครั้ง จนได้หลอดที่ขึ้นรูปได้ 100%
หลังจากได้หลอดที่สามารถใช้งานได้ เริ่มในส่วนของโรงงานผลิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเซ็ทเครื่องจักร คาดว่าจะใช้เครื่องจักร 2 เครื่อง รองรับการผลิตได้ปีละ 15 ล้านชิ้น โดยคาดว่าจะเริ่มทำออกมาจำหน่ายประมาณเดือน มกราคม 2563 ต้อนรับปีใหม่ และจะกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศประมาณ เดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2563
โดยในปีแรก ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 15 ล้านชิ้นต่อปี หรือ ถ้าคิดเป็นรายได้ประมาณ 27 ล้านบาท ส่วนราคาหลอดตั้งราคาไว้ที่ หลอดละ 1 บาท และที่ตั้งรายได้ไว้ที่ 27 ล้านบาท เพราะเราได้บวกค่าแพคเกจจิ้ง และหลอดในขนาดอื่นๆ ที่ราคาสูงกว่า 1 บาท เข้าไปด้วย
ทั้งนี้ ในอนาคต มีแผนพัฒนาหลอดให้มีสีต่างๆ ที่ได้จากพืชตามธรรมชาติ เช่น สีส้มจากแครอท หรือ สีม่วงจากดอกอัญชัน เป็นต้น แต่ก็แค่เพียงแนวคิด คงยังไม่ได้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ หรือ แม้แต่การนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้อื่นๆ ซึ่งก็คงจะเป็นงานชิ้นเล็กๆ ที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อทดแทนพลาสติกได้ และที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะมาจากธรรมชาติ ซึ่งมัน คือ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เรา คือ รับประทาน และย่อยสลายได้
แผนการตลาด เกาะกระแส แจ้งเกิดก่อนคู่แข่ง
"สุรพร" กล่าวถึงแผนการตลาด ว่า หลังจากที่ทำตลาดในประเทศ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศที่เขาประกาศยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกก่อน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา คาดว่าน่าจะเริ่มทำตลาดส่งออกได้ในปีที่ 3 เพราะด้วยกำลังการผลิตของเรา ไม่ได้มาก ถ้าผู้บริโภคคนไทย ใช้ผลิตภัณฑ์หลอดกินได้ของเราแค่เพียง 5% กำลังการผลิตของเราก็แทบจะเต็มอยู่แล้ว ดังนั้น การทำตลาดต่างประเทศ ในช่วงเริ่มต้น ก็คงจะยังทำไม่ได้เพราะต้องรอ การขยายกำลังการผลิตเพิ่มก่อน
“ส่วนของราคาในอนาคต ถ้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และวอลุ่มการสั่งซื้อเข้ามามาก ทำให้สามารถลดราคาลงมาแข่งในระดับเดียวกับหลอดพลาสติกในปัจจุบันได้ ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจ กับการทำตลาดในช่วงนี้ เพราะเปิดตัวเป็นรายแรก และอยู่ในช่วงที่กระแสความต้องการหลอดที่มาแทนหลอดพลาสติก กำลังมาแรง สื่อต่างๆ ก็ให้ความสนใจ และมาทำข่าวกันเป็นจำนวน เป็นข้อได้เปรียบ และเป็นโอกาส และการเป็นรายแรก ย่อมเป็นที่รู้จักและได้เปรียบคู่แข่ง พอถึงวันที่ คนหันมาใช้หลอดกินได้ กันมากขึ้น แม้จะมีผู้ประกอบการหลายราย ก็ไม่ได้กังวล เพราะเราต้องการมาร์เก็ตแชร์แค่ 5% ของผู้ใช้หลอดต่อวัน อยู่ได้”
“สุรพร” เล่าถึงที่มาของการมาทำกิจการผลิตหลอดในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจาก มองเห็นปัญหาว่าหลอดชิ้นเล็ก แต่สร้างความเสียหายได้มากมาย โดยเฉพาะกับปัญหาของ สัตว์ในทะเล เพราะด้วยหลอดเป็นสิ่งของชิ้นเล็ก ก็ปลิวไปตามที่ต่างๆ ได้ง่าย และด้วยความที่ชิ้นเล็ก ก็ไม่นิยมนำมารีไซเคิลใหม่ ดังนั้น หลอดกลายเป็นพลาสติกที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ มากกว่า พลาสติกชิ้นใหญ่ที่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้
ด้วยเหตุนี้ เอง จึงได้หยิบกระแสของ สินค้ารักษ์โลกอย่างหลอดนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ และที่สำคัญ ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้มากขึ้น เพราะส่วนผสมทุกอย่าง เป็นพืชที่เกษตรกรปลูกกันอยู่แล้ว ทำให้สามารถมีอีกช่องทางหนึ่งในการระบายผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกมาล้นตลาด
หลอดทางเลือกที่จะมาแทนหลอดพลาสติก
อย่างไรก็ตาม ในทุกธุรกิจต้องมีแข่งขัน เช่นเดียวกับหลอดกินได้ ของบริษัทกัญจนาพร (สยาม) แม้จะไม่ได้มีคู่แข่งโดยตรง แต่มีโปรดักส์ ที่ผลิตใกล้เคียงกันออกมาจำหน่าย เช่น หลอด PLA เป็นหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมวัตถุดิบธรรมชาติ เช่นกัน ต่างกัน ตรงที่ PLA ต้องนำวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการหมัก ซึ่งในกระบวนการย่อยสลายทำได้ยากกว่า โดยถ้าถูกนำไปทิ้งในกองขยะและมีขยะอื่นๆ ทับอยู่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ถ้าจะให้ย่อยสลายได้ต้องแยกออกมา ถึงจะย่อยสลายได้ ปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพ PLA ได้รับความนิยมนำมาแทนพลาสติกกันมากในต่างประเทศ เพราะมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับพลาสติก
นอกจาก พลาสติกชีวภาพ PLA ยังมีหลอดทางเลือกอื่นๆ ที่มาแทนพลาสติก เช่น หลอดกระดาษ ปัจจุบันถือว่า ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย และต่างประเทศ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศจีน หันมาผลิตหลอดกระดาษออกขายจำนวนมาก แต่ปัญหาของหลอดกระดาษ คือ กลิ่นเหมือนสารเคมีที่มาจากกาวที่ใช้ เมื่อโดนน้ำยังไม่รู้ว่ากาวละลาย แล้วจะเป็นอันตรายผู้บริโภคหรือเปล่า และยังมีหลอดประเภทอื่น อย่าง หลอดไม้ไผ่ หลอดผักบุ้ง เป็นต้น ซึ่งมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน
หลายประเทศทั่วโลก ตื่นตัวออกมาตรการเลิกใช้พลาสติก
สำหรับประเทศที่วางมาตรการ ลด ละ เลิก ใช้พลาสติก โดยในปีนี้ (2562) องค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ประกาศแนวคิดรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้หัวข้อ “Beat Plastic Pollution” หรือ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” ใช้คำขวัญ “ถ้าใช้ซ้ำไม่ได้ก็ควรเลิกใช้” (If you can’t reuse it, refuse it) เราต่างก็รู้ต้นเหตุของปัญหา ของขยะพลาสติกมากมายที่แทบจะล้นโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากมายและยาวนานหลายปี แต่ในหลายๆ ประเทศต่างก็เริ่มที่จะตื่นตัว หาทางฟื้นฟู ยับยั้งขยะพลาสติกที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยการออกกฏหมายบังคับการใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน
อาทิ ประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว ที่ทำจากพลาสติก โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใน ค.ศ. 2020 และ ประเทศอังกฤษ ประกาศเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกใบละ 5 เพนซ์ (ราว 2 บาท) ตามร้านค้าขนาดเล็กเพื่อจัดการปัญหา ‘วัฒนธรรมทิ้งขว้าง’ ของชาวอังกฤษ หรือ ประเทศอินเดีย ตั้งมั่นว่าจะหยุดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งทุกชนิดในประเทศอินเดียภายใน พ.ศ. 2565 และมีอีกหลายประเทศ เช่น ในเอเชีย ประเทศเกาหลี ที่เลิกให้ถุงพลาสติก กับลูกค้าที่ซื้อสินค้า ไม่เกิน 3-4 ชิ้น รวมถึง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ต่างเริ่มออกกฎหมายการเลิกใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น

ที่มา : Manager online 12 กันยายน 2562  [https://mgronline.com/smes/detail/9620000087425]