Author : พรทิพย์ ผลประเสริฐ
Source : วารสารอาหารและยา
Abstract : การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์การใช้วัตถุเจือปนอาหารและการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายประเภทน้ำพริกแบบแห้งพร้อมบริโภค จากการสุ่มเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2556-2557 ส่งวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิเคราะห์ด้านเคมี หาสารกันรา (ซาลิซิลิค) วัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก) และวิเคราะห์ทางด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค 4 ชนิด คือเชื้อ Clostridium perfringens, Staphylococcus aureus , Bacillus cereus และ Salmonella ผลการศึกษาพบการใช้วัตถุกันเสียในกลุ่มของกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 14 ในปี พ.ศ. 2557 และพบการใช้กรดซอร์บิกเกินมาตรฐานร้อยละ 3.34 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 14.00 ในปี พ.ศ. 2557 ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 281 พ.ศ. 2557 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร กำหนดปริมาณการใช้ไม่เกิน 1,000 ppm และตัวอย่างที่ศึกษาทั้งหมดตรวจไม่พบการใช้กรดซาลิซิลิค ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร จากผลการวิเคราะห์พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2556 เรื่องมาตรฐานอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค โดยพบเชื้อ B. cereus ร้อยละ 23.34 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 34.00 ในปี พ.ศ. 2557 และพบเชื้อ C. perfringens ร้อยละ 10.00 ในปี พ.ศ. 2556 และร้อยละ 2.00 ในปี พ.ศ. 2557 และตัวอย่างทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อ S. aureus และ Salmonella ดังนั้นในเบื้องต้นผลการศึกษาครั้งนี้ไม่อาจสรุปความสัมพันธ์ต่อการใช้วัตถุกันเสียกับการพบเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมดังนี้ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำพริกรูปแบบต่างๆ และชนิดของวัตถุกันเสียที่เหมาะสมกับน้ำพริกแต่ละรูปแบบ เนื่องจากผลการศึกษาข้างต้นพบว่าแม้มีการใช้วัตถุกันเสียในปริมาณมากก็ยังพบเชื้อจุลินทรีย์แสดงให้เห็นว่าอาจใช้วัตถุกันเสียไม่เหมาะกับชนิดของน้ำพริกนั้นและควรจะให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานที่ผลิตน้ำพริกแบบแห้งพร้อมบริโภค นอกจากนี้ควรเร่งดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่ผลิตน้ำพริกแบบอื่นๆ ทุกพื้นที่ พร้อมเร่งรัดสถานที่ผลิตให้ได้เกณฑ์ Primary GMP ตามกฎหมายต่อไป.
การตรวจเฝ้าระวังน้ำพริกแบบแห้งพร้อมบริโภค
- Details
- Category: food and Agro-Industry
- Hits: 1662