Author : จุฑาทิพย์ ลาภวิบูลย์สุข และสมภพ ลาภวิบูลย์สุข.
Source : วารสารผลงานวิชาการกรมวิทยาศาสตร์บริการ 9, 9 (ส.ค. 2563) 58-70
Abstract : การตกค้างของสารเมลามีนจากวัสดุสัมผัสอาหารสามารถปนเปื้อนในอาหารได้ สหภาพยุโรปจึงได้ออกกฎระเบียบหมายเลข1282/2011 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค ว่าด้วยเรื่องเกณฑ์กำหนดของการไมเกรชันของสารเมลามีนหรือ Specific migrationlimit (SML) ที่ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้น งานวิจัยนี้ศึกษาการไมเกรชันของสารเมลามีนจากวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งเก็บจากท้องตลาดของประเทศไทยใน 4 ภาคดังนี้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ โดยใช้กรดอะซิติก ความเข้มข้นร้อยละ 3 โดยน้ำหนักต่อปริมาตรและเทคนิคไฮเพอร์ฟอร์แมนลิควิดโครมาโทกราฟี (HPLC) ด้วยวิธีการสกัดดำเนินการที่70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง การทดสอบปริมาณเมลามีนในตัวอย่างเพื่อประเมินการรับสัมผัสจากการบริโภค พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณเมลามีนของวัสดุสัมผัสอาหารทุกชนิด คือ 13.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผลการทดสอบได้นำมาประเมินความเสี่ยงของการรับสัมผัสของสารเมลามีน พบว่าอาหารหลายชนิดมีความเสี่ยงสูง เช่น ข้าว นมสด เครื่องดื่มและน้ำดื่ม โดยขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร อายุ การบริโภค และบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้อีกด้วย ความเสี่ยงสูงที่สุดพบในนมสดสำหรับอายุ 0-3 ปี และน้ำดื่มสำหรับอายุมากกว่า 3 ปี ที่เปอร์เซ็นไทล์ 97.5 เฉพาะผู้บริโภค ดังนั้น ชนิดอาหารที่มีการบริโภคสูงต้องคำนึงถึงว่าอาจมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน และควรหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ไม่เหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์เมลามีนเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ.
Subject : อาหาร. วัสดุสัมผัสอาหาร. ภาชนะเมลามีน.