ผู้ผลิตผักและผลไม้สดมักจะบอกว่าสินค้าของตนนั้นไม่มีการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง แต่เราจะสามารถเชื่อในสิ่งที่เขาบอกเราได้อย่างนั้นหรือ? ในอนาคตอันใกล้นี้แม้แต่พนักงานในห้างก็สามารถตรวจสอบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงนี้ได้ด้วยแผ่นฟิล์มที่แปะลงบนผักและผลไม้ที่นำนวัตกรรมที่น่าสนใจใส่ลงไป และที่สำคัญราคายังไม่แพงอีกด้วย
นวัตกรรมที่กล่าวถึงคือ การเติม ซิลเวอร์ไนเตรต (Silver nitrate) ผสมเข้ากับสารเมลามีนที่มาจากธรรมชาติ นำไปเทลงบนชั้นเจลอะการ์ (Agar gel) ในจานทดลอง เมื่อซิลเวอร์ไนเตรตทำปฏิกิริยากับสารอื่นก็จะจับตัวกันเป็นผลึก เมื่อโดนแสงแดดก็จะสลายตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็กของซิลเวอร์ไนเตรต หลังจากแห้งแล้วสิ่งที่จะได้คือแผ่นฟิล์มที่บางและมีความยืดหยุ่น ซึ่งเมื่อแผ่นฟิล์มนี้แปะลงบนพื้นผิวของผักหรือผลไม้ที่ฉีดด้วยแอลกอฮอล์แล้ว เมลามีนที่แผ่นฟิล์มจะจับเอาโมเลกุลของยาฆ่าแมลงที่อยู่ที่ผิวของผักและผลไม้นั้น โดยเมื่อนำเครื่องสเปกโตรมิเตอร์ (Spectrometer) แบบพกพา มาตรวจสอบก็จะอาศัยการสะท้อนแสงออกมาจากแผ่นฟิล์มที่มีส่วนผสมของซิลเวอร์ไนเตรต ที่ทำปฏิกิริยากับสารในยาฆ่าแมลง ดังนั้น หากเครื่องสามารถตรวจวัดค่าได้ ก็สามารถระบุได้ว่าผักหรือผลไม้ชนิดนั้นมีการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงอย่างแน่นอน
นี่เป็นนวัตกรรมและแนวคิดจาก Anastasia Nenashkina นักศึกษาจาก ITMO University ผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวโดยเธอกล่าวว่า เมื่อปรียบเทียบวิธีนี้กับวิธีอื่นๆ ที่ใช้ทดสอบที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่าง โครมาโทกราฟี (Chromatography) โพลาโรกราฟี (Polarography) โวลต์แทมเมตรี (Voltammetry) และวิธีอื่นๆ ที่มีเพื่อการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง เราพบว่าวิธีการที่เราคิดค้นขึ้น หรือการใช้ฟิล์มที่ผสมซิลเวอร์ไนเตรตนี้ สามารถช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงสามารถใช้งานได้ง่ายกว่าวิธีอื่น เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจากความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย ได้แก่ ITMO University ประเทศรัสเซีย ร่วมกันกับ National University of Singapore และ University of Rovira I Virgili ประเทศสเปน โดยงานวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Nanoscale เป็นที่เรียบร้อย
ที่มา : นิตยสาร ฟู้ด โฟกัส ไทยแลนด์