การปลอมปนเนื้อสัตว์ในอาหารฮาลาลยังพบได้ในต่างประเทศ โดยนอินโดนีเซียพบเนื้อหนูเจือปนในอาหาร ในเวียดนามพบเนื้อสุนัขปนเปื้อน ขณะที่ออสเตรเลียและมาเลเซียปรากฏอาหารฮาลาลปลอมปนเนื้อจิงโจ้ การปลอมปนดังกล่าวไม่เพียงผิดข้อกำหนดทางศาสนาอิสลาม แต่ยังส่งผลด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับบริษัท ทาเลโนเมะ ดีเอ็นเอ โปรเฟสเชอนัล จำกัด จึงได้สนับสนุนงบประมาณวิจัยแก่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ศวฮ. นำทีมโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ศ.ดร.สุวิมล กีรติพิบูลและคณะผู้วิจัย คิดค้น Strip Test ชุดตรวจสอบการปลอมปนเนื้อสัตว์ต้องห้ามในอาหารฮาลาลแบบฉับไว ใช้งานง่าย ได้ผลแม่นยำ ตรวจหาดีเอ็นเอสัตว์ได้ถึง 5 ชนิดพร้อมกันในการตรวจเพียงครั้งเดียว
Strip Test ที่ ศวฮ. คิดค้นขึ้นมาเป็นชุดเครื่องมือที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการผลิตอาหารสามารถตรวจสอบการปนเปื้อนในอาหารได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ใช้ Strip Test ยังจำกัดแค่ผู้ประกอบการ หน่วยงานตรวจสอบฮาลาล และผู้บริโภคบางรายที่มีพื้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ แต่ในอนาคต ศวฮ. หวังจะผลักดันให้นวัตกรรมนี้เข้าถึงมุสลิมและประชาชนทั่วไป โดยวางแผนจะจำหน่ายชุดตรวจ Strip Test ในราคา 300-500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าการตรวจในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ถึง 10 เท่า
อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและหัวหน้ากลุ่มภารกิจบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ กล่าวไว้ว่า “นวัตกรรมนี้ตอบโจทย์ความกังวลเรื่องอาหารให้กับผู้บริโภคมุสลิมและบุคคลทั่วไปได้อย่างแน่นอน Strip Test อาศัยหลักการทำงานของการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอเป้าหมาย จึงให้ผลตรวจสอบที่แม่นยำ ถูกต้อง 100% ภายใน 3 ชั่วโมง เร็วกว่าการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการที่ปกติจะใช้เวลาหนึ่งถึงห้าวันทำการ นอกจากนี้ก็ยังใช้งานง่าย ราคาถูกและสะดวกอีกด้วย นอกจากจะลดต้นทุนด้านเวลาในการตรวจสอบแล้ว Strip Test ยังตรวจการปนเปื้อนของสัตว์ต้องห้ามในอาหารพร้อมกันในการตรวจเพียงครั้งเดียวได้ถึง 5 ชนิด ได้แก่ สุกร สุนัข แมว หนู และลิง ทั้งยังใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารได้ทั้งอาหารสด อาหารแปรรูป และวัตถุดิบอื่น ๆ ด้วย อ่านเพิ่มเติม
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ : สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร