เมื่อวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2564 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ร่วมกับโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริบ้านหัวแม่คำ ภายใต้การกำกับของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การผลิตสับปะรดบริโภคผลสดสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสม...ดอยหัวแม่คำ จังหวัดเชียงราย” ณ บ้านหัวแม่คำ หมู่ 4 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมผลักดันและขยายผลสู่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการวางระบบ

       พร้อมทั้งจัดทำแปลงสาธิต เนื้อที่ 2 ไร่ ปลูกสับปะรดบริโภคผลสด 3 สายพันธุ์ (ภูชวา ไต้หวันเบอร์ 17 และ MD-2) มี นายศราวุฎ เรืองเอี่ยม และคณะร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี และนายศราวุฒิ ศรีสุข หัวหน้าสำนักงานโครงการ พชร. บ้านหัวแม่คำ จังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นเกียรติในงานกิจกรรม  พร้อมมอบแนวทางการส่งเสริมให้มีสับปะรดบนดอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนแก่เกษตรกรหัวก้าวหน้า จำนวน 20 คน ให้สามารถสร้างผลกระทบระดับครัวเรือน สู่ชุมชน และสู่สังคมภายนอก ซึ่งการพัฒนาจากระดับครัวเรือนเข้าสู่ชุมชนเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะหากครัวเรือนมีความเข้มแข็งแล้วรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ สังคมชนบทจะมั่นคงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

       สำหรับสับปะรดสายพันธุ์ดังกล่าว มีการเจริญเติบโตดี พร้อมสำหรับการบังคับผล และเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 12 ตันต่อไร่ น้ำหนักผลสูงสุดที่ 1.5 กิโลกรัมต่อผล รวมทั้ง “พันธุ์ภูชวา” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความหมายว่า “ภูเขาสีทอง” ซึ่งมีรสชาติหวานซ่อนเปรี้ยวเพียงเล็กน้อย เนื้อละเอียด กรอบ ไม่กัดลิ้น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทั้งนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะนำผลผลิตสัปปะรดของรอบฤดูการผลิตแรก ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ต่อไป อ่านบทความต้นฉบับ

ที่มาของข้อมูลและภาพ : สำนักงานพัฒนาการวิจัยทางการเกษตร (องค์การมหาชน)