ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะสนใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของตนเอง และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยเองต้องพร้อมรับมือกับมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบย้อนกลับของอาหาร (Food traceability) โดยการนำเทคโนโลยีการติดฉลาก Radio-Frequency Identification Tag (RFID Tag) ที่บันทึกข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาใช้ เป็นต้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่ควรจะเร่งพัฒนาระบบให้ตรวจสอบได้อย่างจริงจังมีด้วยกัน 4 กลุ่ม ได้แก่ สินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ รวมถึงอาหารสัตว์อีกด้วย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีการส่งออกไปทางตลาดทางฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 159,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด
เทคโนโลยี RFID คืออะไร?
เทคโนโลยี Radio-Frequency Identification Tag (RFID Tag) หรือป้ายอิเล็กทรอนิกส์ นับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีการคาดการณ์กันว่าจะเป็นที่นิยมอย่างมากในอนาคต เทคโนโลยี RFID tag คือ รูปแบบฉลากที่ฝังไมโครชิปเพื่อใช้ในการระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ ใช้พลังงานน้อย และมีการฝังหน่วยความจำที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากของฉลาก โดยปกติสามารถบรรจุข้อมูลได้ 2000 KB สามารถบันทึกได้ตั้งแต่ข้อมูลเฉพาะหรือเลขรหัส โดยฉลาก RFID นี้จะเป็นได้ทั้งฉลากที่อ่านข้อมูลที่บันทึกไว้เพียงอย่างเดียว หรือฉลากที่มีการบันทึกข้อมูลใหม่ หรือใช้การเขียนทับพื้นที่ข้อมูลเดิม
การระบุสินค้าด้วยเทคโนโลยี RFID จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างแม่นยำถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้าที่นำเข้ามา จำนวนสินค้าที่มีปัจจุบัน และเมื่อไหร่ที่นำสินค้าออกจากคลัง ซึ่งจะสามารถช่วยให้การบริหารจัดการทั้งในด้านคุณภาพ อายุการเก็บรักษา ตำแหน่งของสินค้า การนำสินค้าเข้า และการนำสินค้าออกเท่าที่ต้องการ เป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำที่สุด
ที่มา : .foodfocusthailand