คำตอบ

แอนไทไซยานินเป็นฟลาโวนอยด์กลุ่มหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก พบได้ในพืชผักและผลไม้ที่มีสีม่วง สีม่วงแดง และสีน้ำเงิน แอนไทไซยานินมีโครงสร้างหลักแบบ 2-phenylbenzopyrylium (flavyliumcation) โดยมีรูปอะไกลโคน (aglycones) ที่พบได้บ่อยทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ ไซยานิดิน (cyaniding) เดลฟินิดิน (delphinidin) เพทุนิดิน (petunnidin) มอลวิดิน (malvidin) และเพลาโกนิดิน (pelargonidin) รวมถึงสามารถพบในรูปที่จับกับน้ำตาล หรือหมู่แทนที่อื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้ตรวจพบแอนโทไซยานินมากกว่า 635 ชนิด  แอนไทไซยานินสามารถพบได้ในทุกส่วนของพืช ทั้งใบ ลำต้น รากและส่วนสะสมอาหารต่าง ๆ แต่จะพบมากในส่วนดอกและผลโดยเฉพาะผลไม้ต่าง ๆ เช่น เบอร์รี่ เชอร์รี่ พีช องุ่น ทับทิม พลัม เป็นต้น ถือเป็นแหล่งของแอนไทไซยานินที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงยังพบได้ในผักสีเข้มหลายชนิด ได้แก่ แครอทม่วง ถั่วดำ มะเขือม่วง หัวแรดิชสีแดง ข้าวโพดสีม่วง มันเทศสีม่วง เป็นต้น
  การบริโภคแอนไทไซยานินมีข้อได้เปรียบสารประกอบฟีนอลิกกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากแอนไทไซยานินพบมากในพืชที่มีการบริโภคทั่วไปอยู่แล้ว การบริโภคพืชกลุ่มนี้จึงทำให้ได้รับปริมาณแอนไทไซยานินสูงตามไปด้วย รวมทั้งยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลไม้ได้อีกด้วย เช่น น้ำผลไม้ เจลลี่และไวน์แดง โดยตามรายงานของ WHO พบว่า แอนไทไซยานินมีค่าความเป็นพิษต่ำมาก โดยมีปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (acceptable daily intake, ADI) เท่ากับ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

นราพร พรหมไกรวร.  “แอนไทไซยานินกับประเด็นด้านสุขภาพ : โรคเบาหวานชนิดที่ 2”.  อาหาร.  ปีที่ 43, ฉบับที่ 2, (เมษายน-มิถุนายน 2556), หน้า 35