คำตอบ

แหนมเป็นอาหารประเภทเนื้อดิบที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้บริโภคแหนมจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากพยาธิและเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคซึ่งอาจติดมากับเนื้อหมูได้ เช่น พยาธิตัวกลม (Trichinella spiralis) พยาธิตัวตืด (Taemia solium) และเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง เป็นต้น เพื่อทำให้แหนมดิบปลอดจากพยาธิและเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค โดยไม่ทำให้รสชาติของแหนมเปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการนำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมาในอาหาร ซึ่งพบว่ารังสีแกมมาในปริมาณ 2 กิโลเกรย์ สามารถทำลายเชื้อโรคท้องร่วง “ซัลโมเนลลา” ที่อาจติดมากับเนื้อที่ใช้ทำแหนมได้หมดสิ้น นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงคุณภาพด้านจุลินทรีย์ของแหนมให้ดีขึ้นอีกด้วย โดยแหนมจะได้รับรังสีแกมมา (Y-ray) จากต้นกำเนิดรังสี และหลังจากการฉายรังสีจะต้องมีการตรวจสอบปริมาณรังสีที่ฉายให้แก่แหนมทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าแหนมที่ผ่านการฉายรังสีได้รับปริมาณรังสีตามที่กำหนดไว้ สำหรับอายุการเก็บรักษาของแหนมฉายรังสีนั้น สามารถเก็บไว้ได้นาน 10 วัน ที่อุณหภูมิห้องและนาน 2 เดือนในตู้เย็น ซึ่งเก็บได้นานกว่าแหนมที่ไม่ได้รับการฉายรังสีถึง 2 สัปดาห์  สำหรับประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2529) กำหนดให้แหนมเป็นอาหารหนึ่งใน 18 ชนิดที่สามารถฉายรังสีเพื่อการจำหน่ายได้

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

“แหนม” อาหารฉายรังสีชนิดแรกที่คนไทยรู้จัก”.  วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน.ปีที่ 8, ฉบับที่ 2 (มกราคม-มีนาคม) 2556, หน้า16-18.