คำตอบ

สารพลาสติไซเซอร์ (Plasticizers) ที่มากับอาหารแปรรูปที่บรรจุขวดแก้วที่มีฝาปิดเป็นโลหะ ภายในของฝาโลปะมีแผ่นรองพลาสติกชนิดพีวีซี หรือพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride. PVC) ที่เรียกว่าปะเก็น (gasket) ซึ่งมีลักษณะอ่อนนุ่มเพื่อช่วยให้ปิดฝาโลหะได้แน่นขึ้น เดิมพีวีซีมีลักษณะแข็งไม่ยืดหยุ่นที่อุณหภูมิห้องเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจึงจำเป็นต้องใช้สารเติมแต่ง ประเภทพลาสติไซเซอร์ เติมลงไปในพลาสติก ประมาณร้อยละ 25-45 โดยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์พลาสติก แต่เนื่องจากพลาสติไซเซอร์ที่เติมลงไปมีขนาดเล็ก น้ำหนักโมเลกุลน้อย และไม่ได้ทำปฏิกิริยาโดยตรงเพียงแต่ละแทรกอยู่ระหว่างโมเลกุลพลาสติก ดังนั้นสารดังกล่าวจึงอาจหลุดออกจากภาชนะบรรจุลงสู่อาหารได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบและใช้อุณหภูมิสูงในกระบวนการผลิต เนื่องจากสารดังกล่าวละลายได้ดีในไขมันและน้ำมันที่ร้อน

 โดยพลาสติไซเซอร์ที่นิยมใช้ ได้แก่ สารกลุ่มพทาเลท (Phthalates) พอลิอดิเพท (Polyadipate) อิพ็อกซิไดซ์ซอยบีนออย (epoxidized soybean oil, ESBO) และสารกลุ่มโมโนเมอริกพลาสติไซเซอร์อื่น เช่น DBS, (Dibutyl sebacate), ATBC (Acetylated tri-n-butyl citrate), DINCH (Di-isononyl-cyclohexane-1,2-dicarboxylate)

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สุภัตรา เจริญเกษมวิทย์, ธวัช นุสนธรา และ พิริยะ ศรีเจ้า.  การตรวจหาปริมาณสารพลาสติไซเซอร์ที่ปนเปื้อนในอาหารด้วยเทคนิคก๊าซโครมาโตกราฟี-แมสเปคโทรเมตรี. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ. ปีที่ 58,ฉบับที่ 182 , (มกราคม) 2553. หน้า 35-36.