คำตอบ

ยางรถยนต์ที่ใช้แล้วและมีการนำไปใช้เป็นปะการังเทียม หรือ เป็นแนวกันกระแทกเรือ/ท่าน้ำ 
หรือเป็นแนวชะลอแรงกระแสน้ำ เมื่อยางแช่ในน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย มีโอกาสที่น้ำจะชะเอาสารต่าง ๆ ที่อยู่ในยางรถยนต์ออกมาในอัตราและปริมาณต่าง ๆ กันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเกี่ยวกับการตรวจวัดได้ของสารอินทรีย์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำชะ ตัวอย่างเช่น 1) พบ High aromatic oils ในแท็งก์น้ำที่เลี้ยงปลาเทราท์ และใส่ยางรถยนต์แช่ไว้ รวมทั้งพบ Aromatic nitrogen ในน้ำดี (Bile) ของปลาด้วย 2) พบ PAHs  ในน้ำภายหลังจากแช่ยางรถยนต์ไว้ในแท็งก์ที่มีน้ำทะเลเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ความเข้มข้นของ PAHs ที่ตรวจวัดได้มีความแตกต่างกันทั้งนี้เนื่องจากใช้ยางรถยนต์ต่างชนิดซึ่งมีสูตรผสมแตกต่างกัน แต่เป็นที่สังเกตว่าทุกผลศึกษาจะพบ Pyrene มีค่าความเข้มข้นสูงที่สุด 3) พบว่าในน้ำชะยางรถยนต์จะประกอบด้วยสารพวกคาร์บอนไดซัลไฟด์ (Carbon disulfide), เมททิลเอททิลคีโตน Methyl ethyl ketone, โทลูอีน (Toluene) และ ฟีนอล (Phenol) 4) จากการสกัดและวิเคราะห์น้ำชะยางรถยนต์ที่บดละเอียด พบสาร Benzothiazole, Butylkated hydroxyanisole, n-Hexadecane, 4-[t-octyl) Phenol
 ความเข้มข้นของการตรวจพบสารอินทรีย์เหล่านี้ในน้ำชะ ขึ้นกับประเภทของยางรถยนต์ ซึ่งจะมีสูตรการผลิตยางแตกต่างกัน อายุของยางรถยนต์ ระยะเวลาสัมผัสกับน้ำ ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการชะเท่าที่มีการศึกษา ได้แก่ สมบัติของน้ำชะ (ความเค็ม ความเป็นกรดด่าง) ประเภทชนิดและอายุของยางรถยนต์

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

เบญจลักษณ์ กาญจนเศรษฐ์.  สารมลพิษอินทรีย์จากยางรถยนต์. วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 17, ฉบับที่ 3 (กรกฏาคม-กันยายน), 2556 หน้า 24-25