ไม่ว่าคนเราจะมีอายุเพิ่มขึ้นกี่ปี หรือรูปลักษณ์ภายนอกจะดูเสื่อมโทรมลงเพราะความแก่ชราแค่ไหนก็ตาม มีอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ที่ยังคงอ่อนเยาว์ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นก็คือตับซึ่งทำหน้าที่เก็บสะสมพลังงาน ขจัดสารพิษ และผลิตสารจำเป็นต่าง ๆ ให้ร่างกายนั่นเอง

.

งานวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Cell Systems ระบุว่าทีมนักชีววิทยาระดับโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดนของเยอรมนี ได้ใช้วิธีตรวจวัดอายุกำเนิดของเซลล์ด้วยคาร์บอน-14 หรือคาร์บอนกัมมันตรังสี ทำให้พบว่าเซลล์ตับส่วนใหญ่ของมนุษย์นั้นมีอายุอ่อนเยาว์ไม่เกิน 3 ปีเสมอ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีอายุมากน้อยเพียงใดแล้วก็ตาม

.

มีการทดลองตรวจหาอายุกำเนิดของเซลล์ตับด้วยคาร์บอน-14 กับตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้จากผู้บริจาคกว่า 50 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-84 ปี ซึ่งผลปรากฏว่าเซลล์ตับส่วนใหญ่นั้นมีอายุไม่เกิน 3 ปี เสมือนกับเป็นอวัยวะของเด็กเล็ก

.

ดร. โอลาฟ เบิร์กมานน์ ผู้นำทีมวิจัยอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตับของมนุษย์สามารถให้กำเนิดเซลล์ใหม่ขึ้นมาผลัดเปลี่ยนกับเซลล์เก่าได้ทุกปี ทำให้ตับคงสภาพอ่อนเยาว์อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่ยังไม่พบในสัตว์ชนิดอื่น

.

กระบวนการสร้างเซลล์ตับใหม่อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอในมนุษย์ ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของตับ ซึ่งมักได้รับความเสียหายจากการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และแม้อัตราการงอกเกิดใหม่ของเซลล์ในอวัยวะอื่นจะค่อย ๆ ลดลงไปตามวัย แต่เซลล์ตับนั้นสามารถเจริญขึ้นใหม่ได้เสมอ

.

เซลล์ตับที่ผ่านการตรวจหาอายุกำเนิดด้วยคาร์บอน-14

อย่างไรก็ตาม เซลล์ตับที่อ่อนเยาว์อยู่ตลอดกาลนี้คือเซลล์ประเภท Diploid Hepatocytes ซึ่งเป็นเซลล์ร่างกายที่มีโครโมโซมสองชุดเหมือนกับเซลล์สืบพันธุ์ ทีมผู้วิจัยเชื่อว่าความสามารถในการฟื้นฟูตนเองของเซลล์ตับชนิดนี้ ช่วยลดความเสี่ยงที่เซลล์ตับส่วนน้อยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอายุยืนยาวได้ถึง 10 ปีและมีโครโมโซมหลายชุด จะสะสมยีนกลายพันธุ์จนทำให้เกิดมะเร็งและโรคตับเรื้อรังขึ้นได้

.

การค้นพบครั้งสำคัญนี้ ทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความเข้าใจถึงกลไกชีวภาพและการทำงานของตับมากขึ้น ซึ่งในขั้นต่อไปจะทำการศึกษาว่า กระบวนการสร้างเซลล์ตับใหม่ทุกปีถูกขัดขวางในผู้ป่วยโรคตับหรือไม่ และอาจขยายขอบเขตการวิจัยเรื่องดังกล่าวไปสู่อวัยวะอื่นอย่างเช่นหัวใจด้วย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/international-61805938