สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับนักบินอวกาศที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานาน คือ กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนแอลง จนนำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ถึงแม้จะมีวิธีออกกำลังกายแบบพิเศษเพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าวก็ตาม

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิจัยทำการทดลองสร้าง “หนูจอมพลัง” หรือ “mighty mice” ขึ้นมา ที่สามารถรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกเอาไว้ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศเป็นเวลาหนึ่งเดือนก็ตาม ซึ่งการทดลองนี้ถูกมองว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวีธีป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของนักบินอวกาศในอนาคตได้
ในการทดลองครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์แห่งแจ็คสัน แลบอราทอรี (Jackson Laboratory) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยชีวการแพทย์ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรในรัฐเมนของสหรัฐฯ ได้ส่งหนูตัวเมีย 40 ตัวขึ้นไปอวกาศ โดยสารไปกับยาน SpaceX เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา โดยหนูทั้งหมดอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 33 วัน ก่อนจะกลับสู่พื้นโลกในเดือนมกราคม
ใน 40 ตัวนี้ มีอยู่ 16 ตัวที่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรม โดยนักวิจัยได้นำเอายีนไมโอสตาติน (myostatin) ที่ผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่ควบคุมและกดการพัฒนาของกล้ามเนื้อและกระดูกออกไป ทำให้กล้ามเนื้อของหนูเจริญเติบโตได้แม้อยู่ในอวกาศ
ผลที่ได้พบว่า หนู 16 ตัวที่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรมไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีอย่างน้อย 8 ตัว ที่มีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าหนูธรรมดาถึงสองเท่า
ส่วนอีก 24 ตัวที่ไม่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรมเลยนั้น สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและกระดูกประมาณ ​8-18% ของน้ำหนักตัว และยังเสียความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกไป 11% อีกด้วย ซึ่งความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกนี้เป็นตัวชี้วัดความแข็งแรงของกระดูก
คู่สามีภรรยา Se-Jin Lee และ Emily Germain-Lee ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของการทดลองนี้ กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่าพวกเขาตื่นเต้นกับผลการทดลอง และอยากจะส่งหนูที่ปรับแต่งพันธุกรรมนี้ขึ้นไปบนอวกาศอีกครั้ง โดยใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศให้นานขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะนำการทดลองนี้ไปพัฒนาใช้เพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อและกระดูกของมนุษย์​

ที่มา : Voice of America 12 กันยายน 2563 [https://www.voathai.com/a/5580415.html]