บุคคลทั่วไปทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคนตาดีหรือคนตาบอด สามารถจะฝึกระบุตำแหน่งวัตถุในที่มืดจากเสียงสะท้อนได้ ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 สัปดาห์เท่านั้น
.
ความสามารถพิเศษดังกล่าวเรียกว่า "เอ็กโคโลเคชัน" (echolocation) เป็นทักษะการนำร่องแบบเดียวกับที่พบในสัตว์หลายชนิด อย่างเช่นวาฬ โลมา และค้างคาว แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองนำมาฝึกให้กับคนทั่วไป และพบว่าประสบผลสำเร็จเกินคาด
.
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอรัม (Durham University) ของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร PLOS One โดยระบุว่าพวกเขาสามารถสอนให้คนที่ตาบอดมาตั้งแต่เด็ก 12 คน และคนที่มองเห็นได้ปกติ 14 คน กระดกลิ้นแตะเพดานปากทำเสียงคลิกแล้วรับฟังเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น จนทราบได้ถึงลักษณะของสภาพแวดล้อมรอบตัวและเส้นทางที่กำลังเดินไป
.
ภายในเวลา 10 สัปดาห์ มีการฝึกสอนทักษะดังกล่าวทั้งหมด 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งกินเวลาราว 2-3 ชั่วโมง โดยให้ผู้เข้าร่วมฝึกเดินในเส้นทางที่มีอุปสรรคกีดขวางแบบต่างๆ เช่นเขาวงกต, ทางโค้งรูปตัวยู, เส้นทางที่มาบรรจบกันเป็นสามแยก และทางเดินแบบซิกแซ็ก รวมทั้งฝึกระบุขนาดของวัตถุต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นให้ได้ด้วย
.

การระบุตำแหน่งวัตถุจากเสียงสะท้อน (echolocation) เป็นทักษะที่พบในสัตว์อย่างเช่นวาฬและค้างคาว

.

ผลทดสอบภายหลังการฝึกชี้ว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดต่างมีทักษะเอ็กโคโลเคชันที่ดีขึ้นกว่าตอนเริ่มฝึกมาก โดยปัจจัยอย่างเพศและวัย รวมทั้งการเป็นคนตาดีหรือคนตาบอดนั้น ไม่มีผลต่อความสำเร็จในการฝึกครั้งนี้แต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกหน้าใหม่หลายคนยังสามารถทำได้ดีเท่ากับคนตาบอดที่ใช้ทักษะดังกล่าวมานานหลายปี แม้แต่ผู้เข้าร่วมฝึกครั้งแรกวัย 79 ปีที่เป็นคนตาบอด ยังสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกินคาด
.
เมื่อทีมวิจัยติดตามผลหลังการฝึกเสร็จสิ้นลงได้ 3 เดือน ผู้เข้าร่วมการฝึกที่เป็นคนตาบอด 10 คน จากจำนวนทั้งหมด 12 คน บอกว่าทักษะเอ็กโคโลเคชันที่ได้เรียนรู้ไปเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
บางคนเรียกเทคนิคการกระดกลิ้นเพื่อจับทิศทางจากเสียงสะท้อนนี้ว่า "โซนาร์มนุษย์" (Human Sonar) ซึ่งน่าประหลาดใจว่าสมองส่วนการมองเห็นกลับเป็นอวัยวะที่ตีความและประมวลผลข้อมูลเสียงสะท้อน เพื่อช่วยให้คนตาบอดที่ใช้ทักษะเอ็กโคโลเคชันทราบถึงขนาดและตำแหน่งของวัตถุที่อยู่ตรงหน้าได้
.

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-57459777