แม้วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์จะทุ่มเทอย่างมหาศาลให้กับการค้นหาวิธีหยุดยั้งความชรา รวมไปถึงวิทยาการใหม่ ๆ เพื่อชะลอวัย หรือแม้แต่ยาวิเศษที่จะช่วยคืนความเป็นหนุ่มสาวให้ แต่ผลการศึกษาล่าสุดจากกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ทั่วโลกกลับแจ้งข่าวร้ายว่า เราไม่มีทางจะเอาชนะกระบวนการไปสู่ความชราภาพของร่างกายนี้ได้เลย

.
รายงานวิจัยข้างต้นซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications ฉบับล่าสุด ได้เผยถึงหลักฐานทางสถิติที่บ่งชี้ว่า "อัตราคงที่ของความชรา" (invariant rate of aging) นั้นมีอยู่จริง ตามที่เคยมีผู้เสนอแนวคิดว่า มนุษย์และสัตว์จำพวกวานรหรือไพรเมตจะต้องแก่ตัวลงเรื่อย ๆ หลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ด้วยอัตราความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นค่าคงที่ของเผ่าพันธุ์สัตว์แต่ละชนิด
.
กระบวนการไปสู่ความชราภาพข้างต้นนั้น แม้แต่เทคโนโลยีชะลอวัยล้ำสมัยอย่างการฉีดสเต็มเซลล์ หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้าช่วยค้นคว้าในทางพันธุศาสตร์ ในท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจจะเข้าแทรกแซงหรือช่วยยับยั้งความแก่ชราได้ เนื่องจากมนุษย์และสัตว์ต่างมีข้อจำกัดทางชีวภาพ
.

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ได้วิเคราะห์ข้อมูลอัตราการเกิดและการตาย ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงอายุวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ของผู้คนจากหลายทวีป ตลอดยุคสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ทั้งยังเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้กับสัตว์จำพวกวานรหรือไพรเมตอีกด้วย
.
ดร. โฮเซ่ มานูเอล อาบูร์โต จากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้อมูลประชากรของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่า "ผลวิจัยของเราสนับสนุนทฤษฎีที่บอกว่า มนุษย์ปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะว่าแก่ช้าลง แต่เรื่องนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ลวงตา ซึ่งเกิดจากอัตราการมีชีวิตอยู่รอดของทารกเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น"
.

การพัฒนาทางสังคม การแพทย์ และวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ประชากรโลกสามารถอยู่รอดและเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้มากขึ้น แต่หลังจากนั้นอัตราความเสื่อมถอยของร่างกาย รวมทั้งวิถีความเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยชราและการเสียชีวิต จะดำเนินไปด้วยค่าคงที่ซึ่งเหมือนกันในทุกคน"
.
"เมื่อเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ข้อมูลของประชากรมนุษย์กับไพรเมตหลายชนิดพันธุ์ เราพบว่าพวกมันก็มีอัตราคงที่ของความชราซึ่งเกิดขึ้นหลังเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยอัตราการตายนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อสูงวัยมากขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลง"
.
"ข้อเท็จจริงนี้แสดงว่าความแก่ของสิ่งมีชีวิตถูกควบคุมด้วยปัจจัยทางชีวภาพในตนเองเป็นอันดับแรก โดยปัจจัยนี้มีอิทธิพลเหนือกว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอก อย่างเช่นสภาพอากาศ อาหาร หรือการดูแลรักษาสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ "
.
"โดยสรุปแล้ว หลักชีววิทยาวิวัฒนาการยังคงมีชัยเหนือทุกสิ่ง ส่วนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น ยังไม่สามารถจะเอาชนะข้อจำกัดทางชีวภาพของมนุษย์ได้" ดร. อาบูร์โตกล่าว
.

ที่มา : BBC THAI https://www.bbc.com/thai/international-57544611