ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ซึ่งพบหลงเหลืออยู่ในฟอสซิลฟันน้ำนมเด็กอายุเก่าแก่ 31,600 ปี ชี้ว่าไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดธรรมดาซึ่งพบได้บ่อยในปัจจุบันนี้ อาจถือกำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อ 700,000 ปีก่อน ส่วนเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์อาจถือกำเนิดขึ้นหลังจากนั้นอย่างน้อย 400,000 ปี

.
ทีมนักวิจัยจากเดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เผยแพร่ผลการศึกษาข้างต้นในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ biorxiv.org โดยระบุว่าได้สกัดเอาสารพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัส หรือจีโนมไวรัสจำนวน 2 ชุด จากฟอสซิลฟันน้ำนมที่หลุดออกของเด็กวัย 10-12 ปี 2 คน ซึ่งมนุษย์โฮโมเซเปียนส์เหล่านี้เคยอาศัยอยู่ในแถบอาร์กติก บริเวณแม่น้ำยานาของรัสเซีย ระหว่างช่วงก่อนยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด
.
ผลวิเคราะห์จีโนมไวรัสดังกล่าว พบว่าเป็นไวรัสอะดีโนของมนุษย์ชนิดซี (HAdV-C) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน โดยมักแพร่กระจายตัวตามฤดูกาล และทำให้เกิดไข้หวัดที่อาการไม่รุนแรงในเด็ก
.
โซฟี นีลเซ่น หัวหน้าทีมผู้วิจัยซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก บอกว่าไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ในฟันได้ผ่านทางกระแสเลือด ซึ่งเนื้อเยื่อฟันที่แข็งแกร่งและไม่มีการงอกใหม่เหมือนกระดูก ทำให้เก็บรักษาอนุภาคไวรัสที่หลุดเข้าไปไว้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับอากาศหนาวเย็นของเขตอาร์กติกก็มีส่วนช่วยคงสภาพดีเอ็นเอของไวรัสด้วย
.

โรคหวัดแบบธรรมดาอาจมีอาการไข้ ไอ และจามไม่รุนแรงนัก

.
อย่างไรก็ตาม จีโนมไวรัส 2 ชุดดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อยของไวรัสอะดีโนชนิดซีที่แตกต่างกัน คือ HAdV-C1 และ HAdV-C2 โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ เหมือนกับสายพันธุ์ย่อยทั้งสองในปัจจุบันแทบจะไม่ผิดเพี้ยน
.
การค้นพบไวรัสสองสายพันธุ์ย่อยที่อยู่ร่วมในยุคเดียวกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพวกมันต้องถือกำเนิดขึ้นและแยกสายวิวัฒนาการออกจากกัน ตั้งแต่ช่วงหลายแสนหรือหลายล้านปีก่อนเข้าไปอยู่ในฟันน้ำนมของเด็กยุคโบราณแล้ว ซึ่งทีมผู้วิจัยประมาณการว่าน่าจะเป็นเมื่อ 700,000 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย
.
ส่วนมนุษย์ยุคใหม่นั้นถือว่าเป็นผู้มาทีหลังไวรัสสายพันธุ์นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีหลักฐานบ่งชี้ว่า โฮโมเซเปียนส์อาจถือกำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อราว 3 00,000 ปีก่อน
.
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยระบุว่าช่วงเวลาที่ไวรัสอะดีโนชนิดซีทั้งสองสายพันธุ์ย่อยถือกำเนิดขึ้นนั้น เป็นการกะประมาณที่อาจยังมีความคลาดเคลื่อนได้สูง เพราะมีตัวอย่างจีโนมไวรัสให้ศึกษาเปรียบเทียบน้อย แต่การวิเคราะห์พันธุกรรมไวรัสจากตัวอย่างฟอสซิลหลายยุคและหลายพื้นที่ในอนาคต จะช่วยตรวจสอบยืนยันความถูกต้องได้
.

ที่มา : BBC News https://www.bbc.com/thai/international-57925873