เอ็นเอฟที (NFT) หรือ นอนฟันจิเบิล โทเคนส์ (Non-fungible tokens) ซึ่งเป็นชื่อเรียกสินทรัพย์ดิจิตอลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกและไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้นั้น มีคุณสมบัติคล้ายกับรองเท้าบางรุ่นอยู่มาก

.

ทั้งสองมีปริมาณจำกัด และอาศัยความต้องการที่พุ่งสูงเพื่อสร้างกระแสและทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดขายต่อ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แบรนด์รองเท้าและอุปกรณ์กีฬาดังอย่าง ไนกี (Nike) อาดีดาส (Adidas) และอันเดอร์ อาร์เมอร์ (Under Armour) จะกระโดดลงไปเล่นในตลาด NFT ด้วย ตามการรายงานของสื่ออเมริกัน The Wall Street Journal

.

สินทรัพย์ดิจิตอล NFT ครอบคลุมงานศิลปะ วีดีโอ และอะไรก็ตามที่อยู่ในโลกดิจิตอล ที่สามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งสำหรับไนกีและอาดีดาสนั้น NFT อาจจะมาในรูปแบบของรองเท้ากีฬาดิจิตัลที่ควรค่าแก่การสะสม หรือ เป็นรองเท้าที่เจ้าของนั้นใช้สวมใส่ในโลกดิจิตอล เช่น ในวีดีโอเกมหรือในเมตาเวอร์ส (metaverse) ในบางกรณีนั้น NFT เป็นได้ทั้งรองเท้าดิจิตัลและทั้งสิทธิ์ที่จะได้รับรองเท้าจริงในอนาคต โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตั๋วสำหรับสินค้าที่จับต้องได้จริง

.

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไนกีได้ลองชิมลางในตลาด NFT โดยการเข้าซื้อ RTFKT (ออกเสียงว่า อาร์ทิแฟคท์ - artifact) สตาร์ทอัพที่สร้างรองเท้ากีฬาและของสะสม NFT อื่น ๆ ซึ่งเป็นการตามรอยแบรนด์คู่แข่งอย่าง อันเดอร์ อาร์เมอร์ และอาดีดาส ที่การชิมลาง NFT ในระยะแรกถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

.

.

ในการเปิดตัวสินค้าในตลาด NFT เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งอาดีดาสและอันเดอร์ อาร์เมอร์ สามารถขายสินค้าหมดไปอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าที่อาดีดาสขายไป คิดเป็น 23 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

.

ส่วนคนที่ซื้อ NFT ชุด “Into the Metaverse” ของอาดีดาสไปครอบครอง ด้วยสนนราคาประมาณ 765 ดอลลาร์นั้น สามารถนำไปขายต่อได้มากกว่า 2,500 ดอลลาร์ในตลาดซื้อขาย NFT ที่ชื่อ โอเพนซี (OpenSea)

.

ส่วนรองเท้ากีฬาเสมือนจริงของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ รุ่น Genesis Curry Flow ถูกนำออกขายครั้งแรกราคาคู่ละ 333 ดอลลาร์ ก่อนที่จะถูกนำไปขายต่อในราคาสูงถึงคู่ละ 551 ถึงกว่า 15,000 ดอลลาร์

.

ที่ผ่านมา การนำรองเท้ากีฬาไปขายต่อเพื่อทำกำไรมหาศาลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ รองเท้าไนกีรุ่น แอร์ จอร์แดน (Air Jordan) นั้นออกขายในราคาคู่ละ 65 ดอลลาร์ในปี ค.ศ.1985 ก่อนที่จะเรียกราคาได้ 20,000 ดอลลาร์ในการนำเอามาขายใหม่ในปีที่ผ่านมาผ่านแพลตฟอร์ม StockX

.

แต่ทว่า การขายสินค้าเสมือนจริงในตลาด NFT ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเคลมรายได้จากตลาดที่ผู้ซื้อนำสินค้ามาขายต่อ หรือ resale market ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในการนำขายรองเท้าดิจิตอล NFT ไปชายต่อ มีการตั้งโปรแกรมเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือเปอร์เซ็นต์ไว้ในบล็อกเชน ทำให้แบรนด์กีฬาเหล่านี้สามารถมีรายได้จากเปอร์เซ็นต์การขายต่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากการซื้อขายรองเท้าจริง ที่แบรนด์เหล่านี้ไม่สามารถหักรายได้จากยอดขายทุกครั้งที่มีการนำไปขายต่อ

.

ตัวอย่างเช่น RTFKT สตาร์ทอัพที่ผลิตรองเท้ากีฬาเสมือนจริงที่ไนกีเข้าซื้อนั้น จะหักค่าลิขสิทธิ์ 5% ทุกครั้งที่มีการนำอวตารออกขายหรือมีการนำไปขายต่อ และหัก 10% สำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น รองเท้าเสมือนจริง

.

.

มีการคาดว่าตลาดขายของต่อ หรือ resale market มีมูลค่าอย่างน้อย 6 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2020 หรือเทียบได้กับรายได้ของไนกีในประเทศจีนประเทศเดียวในปี ค.ศ.2019

.

นอกจากเรื่องโครงสร้างของการเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่จูงใจแล้ว แบรนด์ยังสามารถนำเอาสินค้า NFT มาเป็นการชิมลางตลาดขายสินค้าที่จับต้องได้ เช่น อาดีดาสได้เสนอขายสินค้า NFT และสิทธิ์ในการที่จะได้รับสินค้าจริงแบบเอ๊กซ์คลูซีฟโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อกันหนาวมีฮู้ด หรือหมวกกันหนาว

.

ปัจจุบันยังมีผู้ที่ยังแสดงความกังขาเกี่ยวกับ NFT อยู่มาก แต่การจัดเก็บสำหรับสิ่งที่เป็นที่ต้องการของสังคมและมีราคาสูงในรูปแบบดิจิตอลนั้น ทำให้การตรวจสอบความแท้เทียม การโอนหรือชายของชิ้นนั้น ๆ ทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการขายรองเท้าหรือภาพวาด

.

การสำรวจโดย CivicScience ในเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่สนใจ NFT และผู้ที่สนใจหรือสะสมรองเท้ากีฬา ยังเกือบจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ตอบว่าพวกเขามีความคุ้นเคยกับ NFT เป็นอย่างมาก โดย 14% กล่าวว่าพวกเขาลงทุนใน NFT และ 18% ตอบว่าพวกเขาสนใจที่จะลงทุนใน NFT แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่คนสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงทำให้มีข้อเสีย คือเงินทุนจำกัด เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในโลกเสมือนจริง หรือตลาด NFT เสียมากกว่า จึงทำให้ความต้องการซื้อรองเท้ากีฬาจริง ๆ นั้นลดฮวบลงไปมาก

.

และถึงแม้ว่า รองเท้ากีฬาเสมือนจริงจะไม่สร้างเรื่องน่าปวดหัว เช่น ปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่ติดขัด ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ แต่ NFT ก็มีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่นกัน NFT บางชิ้น มีการซื้อขายบนบล็อกเชนที่มีการชาร์จค่าธรรมเนียมสูงมากต่อการซื้อขายแต่ละครั้ง ผู้ซื้อ NFT อาจจะต้องจ่ายภาษีในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ซื้อสินค้าดิจิตอลก็มักจะเป็นนักวิจารณ์ตัว่ยงอีกด้วย พวกเขาอาจจะชื่นชมสินค้าที่ทำออกมาดีจนเกิดเกิดกระแสที่ดีมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะวิพากษ์วิจารณ์สินค้าที่หน้าตาย่ำแย่จนสินค้าชิ้นนั้น “ตายไป” อย่างรวดเร็ว

.

ตลาด NFT เองก็กำลังเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ ในปี ค.ศ.2020 มีการซื้อขายสินค้า NFT คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ แต่ในปีที่ผ่านมา Chainanalysis ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขาย NFT ได้พุ่งกระฉูดถึง 44,200 ล้านดอลลาร์

.

ที่มา : voathai.com

(https://www.voathai.com/a/nike-adidas-dip-their-toes-into-nfts/6397661.html)