ท่ามกลางมาตรการผ่อนคลายในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการเปิดประเทศ กระทรวงสาธารณสุขออกมายอมรับแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.4/BA.5 ซึ่งพบมากจากผู้เดินทางเข้าไทยจากต่างประเทศ

.

ทว่า นายแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประเมินสถานการณ์การระบาดในสามเดือนข้างหน้ายังเป็นที่น่ากังวล หลังจากกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวในวันที่ 4 ก.ค. เผยสถานการณ์โควิดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และคาดว่าภายใน10 สัปดาห์จากนี้อาจพบผู้ป่วยในโรงพยาบาลพุ่งสูงสุดในช่วงเดือน ก.ย.

.

ตามมาด้วยการเปิดเผยของเพจชมรมแพทย์ชนบท เป็นภาพหนังสือสั่งการ "ด่วนที่สุด" ลงนามโดย นพ. เกียรติภูมิ วงษ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในสังกัดให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ พร้อมเตรียมสำรองเตียงรับผู้ป่วยหนักและการรับส่งต่อผู้ป่วย

.

ในเวลาต่อมาในช่วงเช้าของวันนี้ (5 ก.ค.) นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริง เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้เตรียมพร้อมเป็นมาตรการปกติที่จะต้องดำเนินการ และนอกจากหนังสือจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือให้ข้าราชการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดต่อไป

.

แพทย์จุฬาฯ เตือนอย่าประมาทโอมิครอนระลอกใหม่

.
แม้ว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะไม่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง แต่จากมุมมองของ ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อ้างอิงถึงผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์วิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ในอังกฤษ ที่เปิดเผยเมื่อเดือน มิ.ย. ระบุว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นปัจจัยที่น่ากังวล

.

 

ศ. นพ. ธีระวัฒน์ บอกกับบีบีซีไทยว่า จากการประเมินข้อมูลชุดใหม่ ทำให้เกิดความตื่นตัวมากขึ้นในส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนในลักษณะ "พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ" จากเดิมที่เข้าใจว่า แพร่เชื้อได้เร็ว แต่ความรุนแรงไม่มากนัก กลับพบว่า ความสามารถของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถเล็ดลอดภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ แม้ว่าจะได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นาไปแล้วถึง 3 เข็มก็ตาม

.

"ยกตัวอย่าง เมื่อฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาไปแล้ว แต่ติดเชื้อ จากเดิมที่เราเชื่อว่าโอมิครอนจะปฏิบัติตัวในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ คนที่ติดโอมิครอนไปแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อต้านเฉพาะสายพันธ์แรกเริ่มเท่านั้น (สายพันธุ์จากอู่ฮั่น หรือ อัลฟา, เบตา และแกมมา) จึงส่งผลให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกภายในระยะเวลา 2-3 เดือน" ศ. นพ. ธีระวัฒน์ อธิบาย

.

นอกจากนี้ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบว่า การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนซ้ำอีก ในขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 กำลังเพิ่มจำนวนและติดง่ายกว่า ในลักษณะเช่นนี้ เมื่อมีอาการอาจจะไม่รุนแรงมาก แต่ก็จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุขึ้นไป หรือกลุ่ม 608

.

จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 4 ก.ค. มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 57,003,688 ราย คิดเป็น 82%, เข็มที่ 2 จำนวน 53,217,012 ราย คิดเป็น 76.5% และเข็มที่ 3 สะสม 29,828,634 ราย คิดเป็น 42.9%

.

อัตราครองเตียงต่ำ ไม่สะท้อนถึงความพร้อมทางการแพทย์.

.

จากการแถลงข่าวของ นพ.จักรรัฐ วานนี้ (4 ก.ค.) ได้ระบุถึงอัตราครองเตียงในภาพรวมอยู่ที่ 10% ขณะที่ในบางจังหวัดที่มีการนำเตียงโควิดไปใช้ดูแลรักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับ 20-30% ยังไม่เกิน 50% ซึ่งเป็นระดับที่ต้องเพิ่มจำนวนเตียง

.

พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิดอาการหนักในห้องไอซียูของ รพ. แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ศ. นพ. ธีระวัฒน์ มองว่า ความพร้อมในด้านอื่นก็สำคัญและควรนำมาพิจารณาว่าขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น บุคลากรทางแพทย์ ที่อาจจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสายพันธ์ใหม่ ๆ ง่ายขึ้น หากติดเชื้อแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการรักษาผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยหรือคนไข้ฉุกเฉิน ที่อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย

.

นายแพทย์ผู้นี้ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยตัวเลขการติดเชื้อตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะเขามองว่ายอดติดเชื้อรายวันในวันนี้ (5 ก.ค.) 1,995 ราย อาจจะสวนกับสถานการณ์จริง

.

"ที่ผ่านมา ภาครัฐตกอยู่ในฐานะตั้งรับโดยตลอด สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องช่วยกันในลักษณะ 3 ประสาน 1. วัคซีนไม่ใช่คำตอบเดียว 2. ความร่วมมือของทุกคนร่วมกันใส่หน้ากาก ล้างมือ และทำให้สถานประกอบการมีความปลอดภัยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า และ 3 คือ การเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสีย" ศ. นพ. ธีระวัฒน์ แนะนำ

.

ขณะที่ รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า เขาเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน 50,000 คน ต่างกับตัวเลขรายวันที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมีปรากฏการณ์ยอดตกช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งเป็นผลจากระบบการตรวจหาเชื้อและรายงานผลช่วงวันหยุด ส่วนตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 600 แล้วมาหยุดแถวก่อน 700 ก็เป็นผลจากระบบการรายงานที่จะมียอดวิ่งเข้ามาเป็นก้อน ๆ ไม่ได้สม่ำเสมอในทุกวัน

.

อนุทินย้ำ "ต้องควบคุมได้" เตรียมชง ศบค. ลดวันกักตัว

.
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การระบาดในบริบทสายพันธุ์โอมิครอนเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ติดง่ายเชื้อไม่แรง และการเปิดประเทศแล้ว ทำให้มีโอกาสในการเห็นการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่วนเรื่องของกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตก็อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว

.

ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนวันที่ 4 ก.ย. โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เสนอว่ายอดผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยพบผู้รักษาในระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1.5 หมื่นราย ลงทะเบียนรับยาผ่านระบบ สปสช. แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 1.91 แสนราย เป็น 2.07 แสนรายในสัปดาห์นี้ โดยจังหวัดที่พบการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ และจังหวัดท่องเที่ยว

.

สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 ในขณะนี้ครองสัดส่วนเกิน 50% ของตัวอย่างที่มีการตรวจเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2564 - 1 ก.ค. 2565

เมื่อสอบถามประเด็นการระบาดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 ที่ระบาดใน กทม. ในขณะนี้ จะรับมืออย่างไรเป็นพิเศษหรือไม่ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่าได้เตรียมเรื่องของเวชภัณฑ์ สถานพยาบาลให้พร้อมแล้ว

.

สำหรับวาระสำคัญในการประชุมหารือของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์นี้ (8 ก.ค.) นพ. โอภาส เปิดเผยว่า จะเสนอมาตรการผ่อนปรนระยะเวลากักตัวจากเดิมใช้ 14 วัน และลดลงมาเป็น 10 วัน แบ่งเป็นแยกกักเดี่ยว 7 วัน และอีก 3 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ แต่ในการประชุมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการแพทย์ด้านวิชาการจะมีการพิจารณาโดยใช้มาตรการ 5+5 คือกักเดี่ยวและเฝ้าดูอาการอย่างละ 5 วัน

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/thailand-62048005