ภาพจำลองเหตุอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกจากฝีมือศิลปิน

สมมติฐานหนึ่งในวงการธรณีวิทยาที่มีมานานหลายสิบปี เชื่อว่าเปลือกโลกผืนเดียวในยุคดึกดำบรรพ์ได้แยกออกเป็นส่วน ๆ และขยายตัวกลายเป็น “ทวีป” (continents) หลังจากถูกอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

.

ล่าสุดข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการพิสูจน์ยืนยันว่าเป็นความจริง โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคอร์ทินของออสเตรเลียเผยว่า พวกเขาได้พบหลักฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมชิ้นแรกซึ่งยืนยันความถูกต้องของแนวคิดดังกล่าว ในอัญมณีเพทายหรือผลึกคริสตัลของแร่เซอร์คอน (Zircon) ที่ได้จากรัฐออสเตรเลียตะวันตก

.

ผลการค้นพบข้างต้นตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะช่วยไขปริศนาที่ว่า เหตุใดโลกจึงเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีทวีปต่าง ๆ

.

มีการวิเคราะห์องค์ประกอบของไอโซโทปออกซิเจนชนิดต่าง ๆ ในอัญมณีเพทาย ที่ได้จากแหล่งวิจัยทางธรณีวิทยา Pilbara Craton สถานที่แห่งนี้มีการก่อตัวของภูมิประเทศเป็นชั้นหิน ตรงบริเวณเปลือกโลกโบราณอายุเก่าแก่กว่า 4,000 ล้านปี โดยเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการก่อตัวของทวีปในอดีต

.

ดร. ทิม จอห์นสัน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “ผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของเปลือกโลกยุคดึกดำบรรพ์ ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในผลึกเพทาย เผยให้เห็นกระบวนการก่อตัวของทวีปซึ่งเริ่มจากบนลงล่าง โดยหินที่ผิวเปลือกโลกจะหลอมละลายด้วยความร้อนสูงก่อน และค่อย ๆ หลอมละลายลึกลงไป สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่ออุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก”

.

ภาพจำลองเหตุอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกจากฝีมือศิลปิน

อุกกาบาตคือหินอวกาศที่ตกถึงพื้นโลก โดยรอดจากการถูกเผาไหม้จนหมดสิ้นในชั้นบรรยากาศมาได้ อุกกาบาตส่วนใหญ่แยกตัวมาจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่า เมื่อราว 4,600 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคที่ดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบสุริยะกำลังถือกำเนิดขึ้นเช่นกัน ทำให้ดาวบริวารของดวงอาทิตย์ในตอนนั้น มีความเสี่ยงถูกอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะมากกว่าในปัจจุบัน

.

เหตุอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกที่ให้กำเนิดทวีปเมื่อหลายพันล้านปีก่อน อาจมีความรุนแรงคล้ายกับเหตุการณ์อุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นแรงกระแทกมหาศาลจากการพุ่งชน ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ (Chicxulub) ที่กว้างถึง 10 กิโลเมตร บริเวณนอกชายฝั่งคาบสมุทรยูคาตันของประเทศเม็กซิโก

.

ความรู้ใหม่ว่าด้วยกระบวนการก่อตัวของทวีปนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า แร่ธาตุและสิ่งมีชีวิตรูปแบบต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกในแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้อย่างไร

.

“การสะสมตัวของแร่ธาตุในแหล่งต่าง ๆ เป็นผลพวงมาจากกระบวนการสร้างความแตกต่างในเปลือกโลก ซึ่งเริ่มจากการก่อตัวของผืนแผ่นดินอายุเก่าแก่ที่สุด และ Pilbara Craton ก็เป็นหนึ่งในสถานที่เหล่านั้น” ดร. จอห์นสันกล่าว

.

ทีมผู้วิจัยมีแผนจะทำการศึกษาต่อไป เพื่อดูว่าบริเวณที่เป็นเปลือกโลกอายุเก่าแก่ในประเทศอื่น ๆ มีข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีที่บ่งชี้ถึงลักษณะการก่อตัวเหมือนกับในออสเตรเลียหรือไม่ โดยเบื้องต้นทราบว่ามีแหล่งวิจัยทางธรณีวิทยาหลายแห่งที่มีข้อมูลตรงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของแนวคิดกำเนิดทวีปจากอุกกาบาตยักษ์ชนโลกให้สูงขึ้น

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cp4xlx9l1kno