ภาพจำลองภูมิประเทศที่ขยายจากภาพถ่ายดาวเทียมของแอ่งหลุม Shackleton crater ซึ่งอยู่ในเงามืดอย่างถาวร

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจุดลงจอดของยานและพื้นที่สำรวจที่เป็นไปได้ 13 แห่ง ในภารกิจอาร์ทิมิสครั้งที่สาม (Artemis III) ซึ่งมนุษย์จะได้กลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง ภายในเดือนธันวาคม ปี 2024

.

ล่าสุดทางองค์การนาซาแถลงว่า มีแผนการที่จะให้มนุษย์อวกาศในภารกิจดังกล่าว ลงสำรวจในแอ่งหลุมต่าง ๆ ที่อยู่ในเงามืดชั่วนิจนิรันดร์ บริเวณพื้นที่รอบขั้วใต้ของดวงจันทร์ในเขตไม่เกินละติจูดที่ 6 องศาเหนือและ 6 องศาใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีทีมสำรวจใดลงจอดมาก่อน

.

เหตุที่ต้องลงไปสำรวจในแอ่งหลุมดำมืดเหล่านี้ เพราะข้อมูลจากการสำรวจด้วยดาวเทียมเคยชี้ว่า แอ่งหลุมบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นแหล่งกักเก็บความเย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -163 องศาเซลเซียสอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีชั้นน้ำแข็งความหนาหลายเมตรอยู่ภายใน ซึ่งมนุษย์อวกาศอาจนำมาใช้บริโภคเพื่อตั้งฐานที่มั่นระยะยาวบนดวงจันทร์ได้

.

โฆษกของส่วนงานประชาสัมพันธ์ภารกิจอาร์ทิมิสบอกว่า “การตัดสินใจเลือกหนึ่งในจุดลงจอด 13 แห่งนี้ เท่ากับเราได้ก้าวกระโดดเข้าใกล้เป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือการส่งมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ภารกิจอะพอลโลครั้งสุดท้าย”

.

“ภารกิจในครั้งนี้จะไม่เหมือนกับที่เคยมีมา เพราะมนุษย์อวกาศจะต้องเข้าไปสำรวจในเขตเงาดำมืด ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดย่างกรายเข้าไปมาก่อน เพื่อวางรากฐานสำหรับการตั้งอาณานิคมที่อยู่อาศัยได้ในระยะยาว”

.

แผนที่แสดงตำแหน่งจุดลงจอดของยานและพื้นที่สำรวจที่เป็นไปได้ ในภารกิจ Artemis III  

นาซาได้เผยแผนที่ของบริเวณที่เป็นเป้าหมายในการนำยานลงจอดและสำรวจ ซึ่งมีความกว้างราว 15 ตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยแอ่งหลุมที่อยู่ในเงามืดอย่างถาวร โดยปากของแอ่งหลุมเหล่านี้มีความกว้างราว 200 เมตร อย่างเช่นแอ่งหลุม Shackleton crater ซึ่งข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่ามีน้ำแข็งปริมาณมากอยู่ภายใน สามารถนำมาบริโภคและสกัดเอาออกซิเจนสำหรับเป็นอากาศหายใจ รวมทั้งสกัดน้ำเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้อีกด้วย

.

สำหรับจุดลงจอดที่ต้องการในภารกิจนี้ ยานอวกาศอาจต้องอยู่ชิดติดกับขอบแอ่งหลุมอย่างมาก เพื่อให้อยู่ในระยะที่มนุษย์อวกาศจะเดินลงไปสำรวจในเงามืดได้ง่าย และเพื่อให้แน่ใจว่าทีมสำรวจสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่เป็นน้ำแข็งภายในหลุมได้อย่างแน่นอน

.

แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะเลือกลงจอดเพื่อสำรวจแอ่งหลุมใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับวันเวลาที่ปล่อยจรวดนำส่งยานสู่ห้วงอวกาศด้วย เพราะจะเป็นสิ่งที่กำหนดเส้นทางการบิน ซึ่งมีจุดลงจอดเพียงบางแห่งเท่านั้นที่เหมาะสมต่อเส้นทางดังกล่าว

.

ด้วยเหตุที่ต้องลงจอดในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเช่นนี้ จึงต้องมีการสำรวจเบื้องต้นที่ไม่ได้ทำโดยมนุษย์ เพื่อเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนในภารกิจอาร์ทิมิส 1 และ 2 ซึ่งภารกิจอาร์ทิมิสครั้งแรกมีกำหนดจะปล่อยยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ในวันที่ 29 ส.ค. ที่จะถึงนี้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4nx16nlz9lo