ปัจจุบันคนเราไม่ได้เผชิญกับมลพิษเมื่ออยู่กลางแจ้งเท่านั้น ขณะที่อยู่ในตัวอาคารและห้องปิดต่าง ๆ แม้จะมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีก็ยังเจอเข้ากับสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ ซ้ำร้ายในบางครั้งมลพิษที่ว่าอาจมาจากตัวคุณเองและคนรอบข้าง

.

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากยุโรปและสหรัฐฯ นำโดยสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาด้านเคมีของเยอรมนี ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร Science โดยชี้ว่ามนุษย์นั้นสามารถแผ่ “สนามออกซิเดชัน” (oxidation field) ซึ่งจะผลิตอนุมูลอิสระออกมาในอากาศรอบตัวเราได้

.

ปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มาจากตัวเราเองนี้ จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในห้องที่อากาศมีโอโซน (O3) จากภายนอกรั่วไหลเข้ามาปะปน และทำปฏิกิริยากับไขมันเคลือบผิวหนังหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไขมันไม่อิ่มตัวที่เรียกว่า triterpene squalene จนเกิดเป็นอนุมูลอิสระจำพวกไฮดรอกซิล (OH) ขึ้นในปริมาณมาก

.

แม้ไฮดรอกซิลที่เกิดขึ้นจะสลายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในบางครั้งสามารถรวมตัวกันจนมีความเข้มข้นสูงเท่ากับระดับที่พบกลางแจ้งเลยทีเดียว โดยกลายเป็นสนามออกซิเดชันที่แผ่ออกไปรอบตัวมนุษย์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอากาศภายในตัวอาคารและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนเราได้ เพราะสนามออกซิเดชันนี้จะเปลี่ยนสารเคมีอื่น ๆ ในอากาศโดยรอบให้กลายเป็นอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นอีกด้วย

.

ดร. นอรา แซนโนนี นักเคมีบรรยากาศซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยกล่าวว่า “ร่างกายมนุษย์ไม่ได้เป็นแค่แหล่งที่อยู่ของอนุมูลอิสระเท่านั้น แต่เรายังสามารถเปลี่ยนสารเคมีรอบตัวให้กลายเป็นอนุมูลอิสระได้เช่นกัน”

.

ข้อสรุปดังกล่าวมาจากการทดลองให้อาสาสมัครเข้าไปอยู่ในห้องที่มีระบบถ่ายเทอากาศครั้งละ 3-4 คน โดยมีการควบคุมภูมิอากาศของห้องให้มีระดับโอโซนสูงสุดเท่าที่สามารถพบได้ในตัวอาคารทั่วไป จากนั้นตรวจวัดความเข้มข้นของไฮดรอกซิล ทั้งในขณะที่มีโอโซนและไม่มีโอโซนในห้อง รวมทั้งช่วงเวลาก่อนและหลังอาสาสมัครเข้าห้องด้วย

.


ภาพจำลองปฏิกิริยาออกซิเดชันในการทดลอง (ซ้าย) และความเข้มข้นของอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น (ขวา)

ผลวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศที่ได้ ถูกนำไปสร้างเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ตามหลักกลศาสตร์ของไหล ซึ่งพบว่ามีปริมาณไฮดรอกซิลเกิดขึ้นสูงในห้องที่อากาศมีโอโซนปะปน โดยอาสาสมัครแต่ละคนมีไฮดรอกซิลสะสมตัวเป็นกลุ่มหมอกห่อหุ้มตนเองอยู่

.

สนามออกซิเดชันที่เกิดขึ้นนี้ สามารถทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ ในห้องให้กลายเป็นอนุมูลอิสระเพิ่มอีกได้ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีจากวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ หรือสเปรย์ปรับอากาศต่าง ๆ ซึ่งอนุมูลอิสระที่เกิดใหม่อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคืองได้

.

อย่างไรก็ตาม สนามออกซิเดชันจากตัวคนเราจะเข้มข้นรุนแรงและแผ่กว้างแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของโอโซนในห้องและลักษณะของการวางระบบถ่ายเทอากาศด้วย

.

ทีมผู้วิจัยกล่าวเตือนว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 90% ของวันอยู่ในห้องปิดห้องใดห้องหนึ่ง จึงควรจะตระหนักถึงปัญหานี้และไม่ละเลยที่จะจัดการสุขอนามัยของบรรยากาศในห้องให้เหมาะสม

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c2947gd00jwo