แม้เราจะเกลียดชังคาร์บอนในฐานะตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต นั่นหมายความว่ามนุษย์จะมุ่งลดและกำจัดคาร์บอนอย่างเดียวคงไม่ได้

.

ความจริงแล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีประโยชน์ในหลายด้านเช่นกัน เราจำเป็นต้องทำให้มันอยู่ในโลกอย่างสมดุลต่างหาก เพราะถ้าไร้คาร์บอนก็ไร้ชีวิต

.

ระบบนิเวศมากมายที่อยู่ได้ด้วยการซึมซับคาร์บอน แต่ก็มีคาร์บอนส่วนเกินที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งระบบนิเวศอิงคาร์บอนที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากคือ บลู คาร์บอน (Blue Carbon) และ กรีน คาร์บอน (Green Carbon)

.

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคาร์บอนทั้ง 2 ประเภทกันก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ถึงความสำคัญของพวกมัน

กรีน คาร์บอน (Green Carbon) คืออะไร?

เป็นคาร์บอนที่ดูดซับโดยต้นไม้ ผืนป่า และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การดูดซับคาร์บอนลักษณะนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานสอนให้เรารู้ว่าพืชเจริญเติบโตโดยการสังเคราะห์แสง และมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยหลัก
พืชและป่าจึงมีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนคาร์บอน ด้วยความที่กรีน คาร์บอน อยู่บนผืนดินและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินไว้ในผืนดิน เราจึงเรียกมันอีกอย่างว่า Terrestrial Carbon Sink หรือคาร์บอน ซิงค์ ภาคพื้นดิน (1)

.

ความสำคัญของกรีน คาร์บอน
ป่าเป็นตัวดูดซับกรีน คาร์บอน ที่ทรงอานุภาพที่สุด เพราะมีอายุยืนนาน โดยเฉพาะจากเศษซากใบไม้กิ่งไม้ในป่าที่สะสมคาร์บอนเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ นอกจากนี้ ป่าไม้ยังสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น การปลูกป่าเพิ่มเติมและการฟื้นคืนพื้นที่ป่าจึงเป็นหนทางที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนชีวภาพ

.

ในเรื่องนี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คำนวณว่าโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า, การฟื้นฟูป่าเขตร้อน และการปลูกป่าใหม่ทั่วโลก สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 60–87 กิกะตัน ภายในปี พ.ศ.2593 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12-15% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลานั้น

.

บลู คาร์บอน (Blue Carbon) คืออะไร?
กรีน คาร์บอน ยังไม่อาจเทียบได้กับบลู คาร์บอน ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า บลู คาร์บอนคือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญ คือ ป่าชายเลน, บึงเกลือ, หญ้าทะเล และสาหร่ายขนาดใหญ่ (1) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศชายทะเล เช่น ป่าชายเลน มีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนให้ถูกดึงลงไปในผืนดินใต้ทะเล หรือดินเลนชายฝั่ง หรือที่เรียกว่า คาร์บอน ซิงค์ (Carbon Sink) และมหาสมุทรคือ คาร์บอน ซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink ซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ (2)

.

บลู คาร์บอนสำคัญอย่างไร?
คริสเตียน เนลเลมานน์ และคณะนักวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า บรรดาคาร์บอนชีวภาพทั้งหมดที่ถูกดูดซับไว้ในโลกมากกว่าครึ่งนั้น (55%) ดูดซับไว้โดยคาร์บอน ซิงค์ทางทะเล ไม่ใช่คาร์บอน ซิงค์ภาคพื้นดิน (3)

.

นี่คือความสำคัญของบลู คาร์บอน และในบรรดาพื้นที่กักเก็บคาร์บอนทั้งหมดของมหาสมุทรนั้น พื้นที่เติบโตของพืชในทะเลมีอัตราส่วนกักเก็บคาร์บอนกว่า 50% และเป็นไปได้ว่าอาจมากถึง 70% ของคาร์บอน ซิงค์ในมหาสมุทร แม้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชในมหาสมุทรจะครอบคลุมน้อยกว่า 0.5% ของพื้นที่ก้นทะเลก็ตาม (3) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งยวดของพืชทะเลที่แม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพืชบกที่กักเก็บกรีน คาร์บอน แต่พืชทะเลก็มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า และกักเก็บได้ยาวนานหลายพันปี

.

ตัวเอกและบทบาทของบลู คาร์บอน

1. ป่าโกงกาง
โกงกางทั่วโลกคาดว่ามีพื้นที่อยู่ที่ระหว่าง 83,495 - 167,387 ตารางกิโลเมตร (4) และคิดเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนถึง 10% ทั่วโลก (5) ปัจจุบันประเทศที่มีป่าโกงกางมากที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย คิดเป็น 30% ของทั้งโลก และเมื่อรวมผืนป่าโกงกางอินโดนีเซีย บราซิล มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนถึง 50% (4)

2. หญ้าทะเล
แม้ว่าพื้นที่เติบโตของหญ้าทะเล จะมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของพื้นที่พื้นมหาสมุทร แต่พวกมันมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งหมด 10-18% หรือคิดเป็นปริมาณถึง 19.9 กิกะตันของคาร์บอนในทะเล (6) โดยปัจจุบันโลกของเรามีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่ที่ราว 300,000 ถึง 600,000 ตารางกิโลเมตร

3. ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล
ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเล หรือบึงน้ำเค็ม มีพื้นที่รวมกันทั่วโลกประมาณ 22,000 ถึง 400,000 ตารางกิโลเมตร และทำให้ที่ลุ่มชื้นแฉะริมทะเลเป็นระบบกักเก็บคาร์บอนชีวภาพธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยระดับความลึกของชั้นดินใต้น้ำกักเก็บคาร์บอนที่มีอายุถึง 5,000 ปี

4. สาหร่ายทะเล
มีหลักฐานว่าสาหร่ายผลิตสารประกอบที่มีความทนทานสูง และทำให้คาร์บอนชีวภาพอาจกักเก็บอยู่ในตะกอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังทะเลลึกและเก็บไว้เป็นเวลานานนับพันปี ดังนั้นการอนุรักษ์พื้นที่การเติบโตของสาหร่ายทะเลตามธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล จึงมีส่วนในการบรรเทาและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้วยความสำคัญของบลู คาร์บอนนี่เอง ก่อนการประชุม COP25 ที่ประเทศชิลี จะเริ่มขึ้น รัฐบาลบางประเทศจึงได้ขอให้มีการบรรจุวาระเรื่องสถานการณ์ของมหาสมุทรเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะเล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นจากการแก้ปัญหามหาสมุทรทั่วโลก

.

อ้างอิง
https://www.facebook.com/dcceth/photos/a.655043231193454/2831376163560139/?type=3

https://thestructure.live/blue-carbon-and-green-carbon-play-an-important-role-in-the-cycle-of-carbon-dioxide-circulation-on-earth-7-9-23/

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000000565