ข้าวที่เพาะจากกล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันสัตว์

นักวิทยาศาสตร์คิดค้น “ข้าวเนื้อ” อาหารลูกผสมชนิดใหม่ ที่อาจเป็นแหล่งโปรตีนใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

.

ธัญพืชที่มีรูพรุน อัดแน่นด้วยกล้ามเนื้อวัวและเซลล์ไขมัน นี่คือข้าวชนิดใหม่ที่เพาะในห้องทดลอง

.

กระบวนการผลิตนั้น ช่วงแรก นักวิทยาศาสตร์จะนำข้าวมาเคลือบด้วยเจลาตินที่ได้จากปลา เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อวัวเกาะตัวกับเมล็ดข้าว แล้วทิ้งมันไว้ในจานเพาะเชื้อ เพื่อเพาะเลี้ยงต่ออีกนาน 11 วัน

.

นักวิจัยกล่าวว่า อาหารชนิดนี้อาจ “ช่วยบรรเทาความอดอยาก เป็นอาหารสำหรับทหารออกศึก หรืออาหารสำหรับนักบินอวกาศ” ก็เป็นได้ ในอนาคต

.

รายงานของวารสารแมทเทอร์ เจอร์นัล (Matter Journal) ระบุว่า ข้าวลูกผสมชนิดนี้ มีความหนาแน่น แต่ก็เปราะบางกว่าข้าวทั่วไป ด้วยปริมาณโปรตีนมากกว่า ข้อดีข้อเสียเหล่านี้ ทำให้ต้องจับตาดูต่อไปว่า ผู้บริโภคจะซื้อหรือไม่หากนำไปขายในท้องตลาด

.

ข้อมูลของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยยอนเซ ประเทศเกาหลีใต้ พบว่า ข้าวเนื้อ มีโปรตีนมากกว่าเนื้อวัวทั่วไป 8% และมีไขมันมากกว่า 7% ไม่เพียงเท่านั้น ยังก่อคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint) น้อยกว่า เนื่องจากไม่ต้องมีฟาร์มเพื่อเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก

.

โซยอน ปาร์ค นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซอนเย บอกว่า สำหรับโปรตีนที่ผลิตได้ทุก ๆ 100 กรัม คาดว่า ข้าวลูกผสมจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 6.27 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าการผลิตเนื้อวัวทั่วไปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 49.89 กิโลกรัม

.

“ปกติแล้ว เราจะได้โปรตีนจากการทำปศุสัตว์ แต่การปศุสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรและน้ำจำนวนมาก รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก”

.

“ลองนึกภาพการได้รับสารอาหารทั้งหมดจากข้าวที่เราเพาะเลี้ยงเซลล์โปรตีน”

.

“ข้าวมีสารอาหารสูงอยู่แล้ว แต่การเพิ่มเซลล์จากปศุสัตว์จะทำให้มันมีสารอาหารเพิ่มขึ้นได้อีก”

.

เธอยังบอกว่า “ฉันไม่ได้คาดหวังว่าเซลล์จะเจริญเติบโตได้ดีในข้าว แต่ตอนนี้ ฉันเห็นโลกแห่งความเป็นไปได้สำหรับอาหารลูกผสมจากธัญพืชชนิดนี้”

.

นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้คิดค้นข้าวลูกผสมชนิดใหม่ที่พวกเขาบอกว่ามันเป็นแหล่งโปรตีนราคาที่เข้าถึงได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

“คนยังต้องการความเชื่อมั่น”
ข้าวเนื้อนี้มีลักษณะเหมือนการใช้ข้าวเป็นนั่งร้านหรือโครงสร้างที่ช่วยให้เซลล์เนื้อเติบโต ตัวข้าวเองยังให้สารอาหารกับพวกมันด้วย

.

ทีมวิจัยเกาหลีใต้ ไม่ใช่ทีมแรกที่พยายามผลิตเนื้อหรือเพาะเนื้อในห้องทดลอง

.

นับแต่การเปิดตัวเบอร์เกอร์ที่เพาะจากห้องปฏิบัติการและในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2013 บริษัทหลายสิบแห่งทั่วโลกก็แข่งขันกันเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ราคาไม่แพงออกสู่ท้องตลาด เช่น สิงคโปร์ที่เพิ่งเริ่มขายผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงจากห้องทดลองให้กับผู้บริโภคเป็นรายแรกของโลก

.

แต่บางประเทศก็ควบคุมเนื้อลักษณะนี้ เช่น อิตาลีที่สนับสนุนกฎหมายห้ามเนื้อสัตว์ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ เพื่อปกป้องวัฒนธรรมทางอาหารของประเทศ

.

ด้านนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเป็นการเติบโตของเซลล์โดยธรรมชาติ ไม่ใช่เนื้อสังเคราะห์แต่อย่างใด

.

ศาสตราจารย์นีล วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร-อาหาร และสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย บอกว่า งานวิจัยลักษณะนี้ให้ความหวังถึงการพัฒนาอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากขึ้นในอนาคต แต่บางคนก็ยังต้องการความเชื่อมั่นอยู่

.

“แม้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศดูจะเป็นไปในทางบวกอย่างมาก แต่การทดสอบที่สำคัญคือสาธารณชนอยากจะกินอาหารที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการเหล่านี้หรือไม่” เขาบอก

.

“โดยทั่วไปแล้ว เนื้อสัตว์ทางเลือกจากห้องปฏิบัติการมีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะเข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์แปรรูปมากกว่าเนื้อสัตว์ตัดแต่ง”

.

ด้านบริดเจ็ท เบเนแลม จากมูลนิธิโภชนาการอังกฤษ บอกว่า “เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก สำหรับการพัฒนาอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพของคนและเป็นมิตรต่อโลกไปพร้อม ๆ กัน การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้”

.

แต่เธอยังกล่าวเสริมด้วยว่า “การค้นพบนี้แสดงถึงปริมาณโปรตีนในข้าวที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก ดังนั้น มันจึงไม่ใช่อาหารโปรตีนสูง ยังจำเป็นต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมในอนาคต หากเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกแทนผลิตภัณฑ์จากสัตว์แบบดั้งเดิม”

 ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cz9z3n19jp0o