งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลกับความเร็วในการหมุนของโลกและอาจส่งผลต่อวิธีการที่มนุษย์ใช้นับเวลา

.

การละลายของน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มปริมาณน้ำในทะเลและมหาสมุทรของโลก ส่งผลต่อการกระจายตัวของมวล ณ มุมต่าง ๆ ของโลก

.

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้โลกหมุนตัวช้าลงเล็กน้อย ทว่าโดยรวมมันก็ยังคงหมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมาอยู่ดี

.

ผลกระทบที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ อาจต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่ผู้ดูแลเวลาระดับโลกจะลดเวลาบนนาฬิกาทั่วโลกลงหนึ่งวินาที ทั้งนี้ ตามปกติจะมีการลดเวลาลงหนึ่งวินาทีเช่นนี้เป็นครั้งคราวอยู่แล้วเพื่อให้เวลาตรงกับการหมุนของโลก

.

"ภาวะโลกร้อนส่งผลกับการนับเวลาของโลกเราแล้ว" งานศึกษาที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Nature ระบุ

.

ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ใช้ระบบเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) เพื่อปรับตั้งนาฬิกาและเวลาของโลก โดยเวลา UTC นี้คำนวณตามการหมุนของโลก

.

แต่ความเร็วในการหมุนของโลกนั้นไม่คงที่ มันจึงส่งผลต่อความยาวของช่วงกลางวันและกลางคืน

.

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของแก่นโลกชั้นที่เป็นของเหลวทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นเล็กน้อย

.

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) จึงถูกเพิ่มขึ้น 27 วินาทีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เพื่อให้สอดคล้องกับการหมุนของโลก อย่างไรก็ดี ผู้ดูแลเวลากำลังวางแผนที่จะลบเวลาลงหนึ่งวินาทีเป็นครั้งแรกในปี 2026 ซึ่งนี่เรียกว่า "ลบวินาทีทิ้ง" (negative leap second)

.

ปี 2020 โลกหมุนเร็วกว่าเดิม ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี

.
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การละลายของน้ำแข็งอันเกิดจากภาวะโลกร้อน ช่วยชะลอความเร็วในการหมุนของโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นไว้บางส่วน

.

งานศึกษาชี้ว่า แผ่นน้ำแข็งทั่วโลกสูญเสียมวลเร็วขึ้นกว่า 30 ปีก่อนถึง 5 เท่า และนั่นหมายความว่า อาจไม่จำเป็นต้องมีการลบวินาทีทิ้งจนกว่าจะถึงปี 2029

.

"มันค่อนข้างน่าประทับใจ สำหรับผมเองด้วย ที่เราได้ทำบางสิ่งที่ส่งผลต่อความเร็วในการหมุนของโลกอย่างชัดเจน" ดันแคน แอกนิว ผู้เขียนการศึกษานี้กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี

.

"สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกำลังเกิดขึ้น"

.

การเปลี่ยนแปลงของแก่นโลกชั้นที่เป็นของเหลวทำให้โลกหมุนเร็วขึ้นเล็กน้อย

การลบวินาทีทิ้งยังไม่เคยถูกนำมาใช้มาก่อน การศึกษาชิ้นดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า การลบวินาทีทิ้ง "จะก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่เคยมีมาก่อน" สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก

.

"นี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นความท้าทายสำคัญในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการบอกเวลาทั่วโลกแสดงเวลาตรงกัน" แอกนิว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวกับเอเอฟพี

.

"คอมพิวเตอร์จำนวนมากถูกเขียนโปรแกรมโดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการทดเวลาเช่นนี้จะมีค่าเป็นบวกทั้งหมด ดังนั้นโปรแกรมเหล่านี้อาจจะต้องถูกเขียนขึ้นใหม่" เขาเสริม

.

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อน่าสงสัยเกี่ยวกับการศึกษานี้อยู่

.

เดเมทริออส แมทซากิส อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของแผนกบริการเวลา ของหอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐฯ บอกกับเอเอฟพีว่า "โลกนั้นมีความไม่แน่นอนมากเกินไป" เกินกว่าที่เราจะบอกได้ว่าต้องลดวินาทีทิ้งในเวลาอันใกล้หรือไม่

.

กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังส่งผลให้โลกร้อนขึ้น

.

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็ง

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/crg09rgl6qdo