การสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย เป็นภารกิจสำคัญของ “เชฟรอน” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหาพลังงานระดับโลกและผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการผลิตพลังงานแห่งอนาคต ตลอด 62 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนประเทศไทยมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยมีส่วนสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาอุตสาหกรรม และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถค้นพบและผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานต่างๆ ในประเทศ โดยเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ค้นพบและสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้จากอ่าวไทย ทั้งยังมีส่วนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

.

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานเพื่ออนาคต นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลากหลายยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานที่มาจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติยังจะต้องมีอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะเริ่มมีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานที่มีความสะอาดมากขึ้น

.

ดังนั้น ความหลากหลายของพลังงาน หรือ Energy Diversification จึงเป็นเรื่องสำคัญ และบทบาทของเชฟรอนจะยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศไทย ด้วยการจัดหาพลังงานที่มีความปลอดภัย มีต้นทุนเหมาะสม และมีความสะอาดมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจะทำให้การผลิตพลังงานแบบ Traditional Energy สะอาดยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการปฏิบัติงานให้ได้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี พ.ศ. 2608 หรือ ค.ศ. 2065

.

ขณะที่ “เชฟรอน” ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero Emission ของบริษัทภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทยถึง 15 ปี แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญอย่างมาก โดยทุกๆ ปี ต้องมีการจัดทำและนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องมีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เชฟรอนประเทศไทยจึงกำลังเดินหน้าใน 3 เรื่องหลัก เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ดูแลสังคม และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

.

การทำงานของเชฟรอน

เรื่องแรก การเพิ่มความสามารถขององค์กร ด้วยการสร้างความรู้ให้กับพนักงาน ผ่านกิจกรรมมากมาย เช่น การขับเคลื่อนผ่านการจัดตั้ง “Green Squad” โดยอาศัยตัวแทนจากทุกแผนกมาเข้าร่วมอัปเดตความรู้เกี่ยวกับการลดคาร์บอนทั้งในชีวิตประจำวันและในองค์กร เพื่อให้ตัวแทนเหล่านี้นำความรู้ไปบอกต่อคนในแผนกต่อไป พร้อมทั้งมีกิจกรรมอื่นๆ อีก อาทิ การเชิญวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงาน การจัดนิทรรศการประจำปี และการจัดแคมเปญเกี่ยวกับการลดโลกร้อนตลอดปี เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อจะได้ไอเดียต่างๆ ในการลดโลกร้อนตามมา

.

นายชาทิตย์ กล่าวว่า “เมื่อเราต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไอเดียต่างๆ ต้องมาจากคนที่ทำงาน อยู่หน้างาน และรู้จริงๆ ว่าตอนนี้ในการปฎิบัติงานต่างๆ ของเรามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตรงไหนบ้าง และการทำงานในโอเปอเรชั่นมีความซับซ้อนอย่างไร เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้นโยบายแบบท็อปดาวน์ โดยผู้บริหารกำหนดว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร สิ่งที่ดีกว่าคือเรามีการวางกรอบและเป้าหมายที่ชัดเจน และให้พนักงานเป็นคนเสนอไอเดีย ซึ่งการจะให้พนักงานมีส่วนร่วมได้ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจก่อนว่าทำไมเราต้องช่วยลดก๊าซเรือนกระจก สิ่งนี้มีผลกระทบกับเราอย่างไร เมื่อพนักงานเข้าใจแล้วจะเริ่มมีไอเดียเอง”

.

“เรื่องคนมีพลังยิ่งใหญ่มาก ถ้าพนักงานไม่ร่วมมือ ไม่มีความรู้ หรือไม่สนใจในเรื่องนี้ เมื่อไรที่เราหยุดโปรโมตหรือหยุดให้รางวัล พนักงานจะหมดความสนใจ แต่หากเราสามารถสร้างแพชชั่นและความรู้ให้เขาได้ สิ่งนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นพื้นฐานของกิจกรรมทุกอย่างที่บริษัทจะทำต่อไปในอนาคต”

.

เรื่องที่สอง การสร้างความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การผลิตและใช้พลังงานที่มีความสะอาดมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสามารถสร้างผลกำไรได้ด้วย โดยเรื่องนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อกำกับดูแลให้ภาคเอกชนทำธุรกิจที่มีความสะอาดมากขึ้น ให้ความรู้ รวมถึงสร้างแรงจูงใจในทางธุรกิจ โดยเชฟรอนให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ร่วมทุน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพราะทุกคนและทุกธุรกิจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเราจึงต้องร่วมมือกัน

.

เรื่องที่สาม การใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้ต้นทุนลดลง และมีผลดีกับธุรกิจในระยะยาว เพราะสามารถช่วยให้การจัดหาและพัฒนาพลังงานมีความสะอาดมากขึ้น ด้วยจุดแข็งของเชฟรอนคือการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเป็นบริษัทพลังงานระดับโลก ทำให้เชฟรอนประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทั่วโลกทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความชำนาญในด้านต่างๆ เช่น จากบริษัท Chevron Technology Company และบริษัท Chevron New Energies โดยมีตัวอย่างโครงการที่กำลังดำเนินการ เช่น การศึกษาการใช้เทคโนโลยี CCS หรือ Carbon Capture and Storage คือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ที่เชฟรอนมีโอเปอเรชั่นอยู่แล้วทั้งในออสเตรเลียและแคนาดา นอกจากนี้ เชฟรอนประเทศไทยได้ร่วมกับพันธมิตรศึกษาการนำ CCS เข้ามาใช้ในแหล่งอาทิตย์ รวมถึงจัดสรรทั้งงบประมาณ พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำ CCS ในต่างประเทศเข้ามาสนับสนุน

.

Topside Reuse

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีโครงการ “การรื้อถอนส่วนบนของแท่นหลุมผลิตมาใช้ประโยชน์ใหม่” หรือที่เรียกว่า “Topside Reuse” ซึ่งเชฟรอนเป็นรายแรกในประเทศไทยที่คิดค้นเทคนิคนี้ โดยในกระบวนการผลิตปิโตรเลียมจำเป็นต้องมีการตั้งแท่นโครงสร้างหลุมผลิต ซึ่งตามปกติใช้โครงสร้างที่แข็งแรงมีอายุการใช้งานยาวนานหลายสิบปี แต่เมื่อผลิตไประยะหนึ่ง ทรัพยากรเริ่มหมดไป จึงต้องหยุดการผลิต แต่แทนที่จะรื้อถอนและนำไปตัดแยกชิ้นส่วนตามปกติ เชฟรอนมีความคิดในการนำส่วนบนของแท่นที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการผลิตกลับมาใช้ในที่ใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การบุกเบิกแนวคิดสู่การวางแผนงานด้านวิศวกรรมอย่างละเอียด ครอบคลุมเทคนิควิธีการที่ทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มีการศึกษาและเริ่มทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

.

ผลลัพธ์ที่ได้คือเชฟรอนสามารถลดปริมาณการจัดการของเสียจากเหล็กที่เกิดจากการรื้อถอนมากถึง 2,500 ตัน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 7,560 ตัน เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ที่เติบโตมานาน 10 ปี จำนวน 125,154 ต้น นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ปลอดภัย และนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายด้วย

.

การทำงานที่ “ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นหลุมผลิต”

และเมื่อเร็วๆ นี้ เชฟรอนได้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต” ที่เรียกว่า “Integrated Operations Center” หรือ IOC ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการสร้างคอนโทรลรูม นอกชายฝั่ง เพราะปกติในกระบวนการผลิตปิโตรเลียม ห้องควบคุมการปฏิบัติงานจะอยู่บนแท่นกลางทะเลอ่าวไทย แต่เชฟรอนได้ย้ายมาไว้ในออฟฟิศที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากแท่นกลางทะเลหลายร้อยกิโลเมตร โดยมีข้อดีคือช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ และลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางและโลจิสติกส์ และยังทำให้การทำงานระหว่างทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

สำหรับแผนงานในปีนี้ จะมีการนำร่องอีกหลายโครงการ เช่น การติดตั้งโซล่าร์เซลล์และระบบพลังงานลม เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาใช้เป็นพลังงานบนแท่นหลุมผลิต ซึ่งจะช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซล และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จจากโครงการนี้ จะขยายออกไปในแท่นหลุมผลิตอื่นๆ ทั้งหมด

.

นายชาทิตย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยว่า “เชฟรอนประเทศไทยจะยังคงแน่วแน่ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้อย่างต่อเนื่องเต็มกำลัง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อประเทศไทยในวันนี้และอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้”

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000036030